คำว่า ‘Homosexual’ หมายถึง รสนิยมทางเพศของบุคคลที่ชอบบุคคลที่มีเพศสภาพเดียวกัน ซึ่งเป็นได้ทั้งชายและหญิง โดยคำแปลหนึ่งของคำนี้ในภาษาไทยคือคำว่า “รักร่วมเพศ” ที่พ้องเสียงกับคำว่า “ร่วมเพศ” หรือการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันนั้นถูกตีกรอบเหมารวมให้ต้องหมกมุ่นทางเพศ สนุกสนานทางกามารมณ์ รวมถึงมีปัญหาทางจิตเวช ฯลฯ อคติเหล่านี้ส่งผลให้พวกเขาต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงมาอย่างยาวนาน
SPECTROSCOPE: มายาคติความรุนแรงต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่แฝงฝังผ่านภาษาไทยในคำว่า “รักร่วมเพศ”
ย้อนรอยกลับไปก่อนที่จะมีคำว่า “รักร่วมเพศ” ในสังคมไทย – อาการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันมักปรากฏในวรรณกรรมสมัยก่อน ปรากฏให้เห็นจากคำว่า “เล่นเพื่อน” หมายถึง การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับหญิง และ “การเล่นสวาท” หมายถึง การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย พฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่สังคมในขณะนั้นแม้จะถูกพูดถึง แต่ก็ไม่ได้ยอมรับ เห็นได้จากการถูกบรรยายให้เป็นสิ่งที่ต้องปิดบัง โดยเฉพาะในสังคมชนชั้นสูง เนื่องจากยุคดังกล่าวมองเพียงชายและหญิงเท่านั้นที่ควรมีเพศสัมพันธ์กันเพื่อสืบทอดดำรงอำนาจของครอบครัว
จนมาถึงช่วงรัชกาลที่ 6-7 การทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของเพศชายและหญิงมีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากองค์ความรู้ชีวะการแพทย์ จนเริ่มมีการใช้คำว่า “รักร่วมเพศ (Homosexual)” เป็นครั้งแรก ซึ่งปรากฏในงานเขียนบทความเรื่อง “กามรมณ์และสมรส” ในหนังสือรวมปาฐกถาเกี่ยวกับปัญหาชีวิตของคนทั่วไปตามหลักจิตวิทยา ซึ่งเป็นยุคที่วงการแพทย์ไทยได้เริ่มเข้ามาศึกษากลุ่มคนรักเพศเดียวกันในฐานะที่เป็น ‘ปัญหาที่ต้องแก้ไขรักษาอย่างจริงจัง’
“รักร่วมเพศ” ถูกแฝงฝังมาด้วยการอธิบายความผิดปกติทางจิต – พวกเขาถูกเชื่อมโยงเข้ากับปัญหาทางสังคม โรคทางจิตเวช และการแพร่ระบาดของเอดส์ ซึ่งนำไปสู่ประกอบสร้างวาทกรรมเรื่องเพศ ที่มองว่าคนรักเพศเดียวกันคือความผิดปกติและมีพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดขนบ เห็นได้จากหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 กลุ่มคนรักเพศเดียวกันถูกขับให้กลายเป็นอื่นในสังคมมากขึ้น เนื่องจากถูกยึดโยงกับการค้าประเวณี จนกลายเป็นปัญหาที่ต้องกวาดล้างและจับกุม แม้เพียงแค่เพราะบุคคลดังกล่าวแต่งหน้าไปดูละครหรือดูหนังที่ศาลาเฉลิมไทย
จนในปี พ.ศ. 2516 สมาคมจิตแพทย์อเมริกันจึงได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าคนรักเพศเดียวกันไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต ซึ่งแม้เราจะไม่พบการลงโทษและการกวาดล้างกลุ่มคนรักเพศเดียวกันจากรัฐไทย แต่เรามักจะยังคงเห็นการนำเสนอพวกเขาผ่านสื่อด้วยภาพลักษณ์เชิงลบในสื่อสาธารณะมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เช่น การล้อเลียนเซ็กส์ของเพศเดียวกัน ด้วยคำว่า อัดถั่วดำ ตีฉิ่ง ฯลฯ กลายมาเป็นภาพแทนการตีตราเพศสัมพันธ์ของเกย์ เลสเบี้ยน หรือเพศอื่น ๆ ในเสปกตรัมว่าผิดแปลก น่ารังเกียจ ไม่ปรกติ ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวจึงยังคงทำงานในแง่ลบต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันจนปัจจุบันนี้
ดังนั้น การถอดรื้อมายาคติด้วยการปะทะประสานความหมาย โดยการขยับมาใช้คำว่า “รักเพศเดียวกัน” จึงอาจช่วยลดอคติในเชิงลบต่อคนกลุ่มดังกล่าวได้ อีกทั้งคำว่ารักเพศเดียวกันนั้นสอดรับกับขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มรักเพศเดียวกันในต่างประเทศ ซึ่งมีที่มาจากการเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายของกลุ่มรักเพศเดียวกัน และได้พื้นที่การรับรองสิทธิอย่างเท่าเทียมจากรัฐ เช่น กฎหมายการสมรสเพศเดียวกัน (Same-sex marriage)
นอกเหนือไปจากนี้ ก็ยังมีคำอื่น ๆ ที่ถูกมองว่าควรได้รับการแก้ไข เช่น คำว่า “เพศที่สาม (third gender)” ซึ่งมีปัญหาจากการให้ความสำคัญแก่เพศชายเป็นลำดับหนึ่ง เพศหญิงเป็นอันดับสอง และเพศที่สามถูกจัดให้เป็นรองสุด แตกต่างกับต่างประเทศที่มักเรียกมีการใช้คำว่า LGBTQ+ หรือ LGBTIQA+ (lesbian, gay, bisexual, transgender, intersex, queer and many others) เพื่อเพิ่มความครอบคลุมคุณลักษณะทางเพศอื่น ๆ ต่อบุคคลที่ต้องการอ้างถึง
“เพศทางเลือก” – เป็นคำที่ออกมาตอบโต้เพศที่สามที่ถูกใช้ก่อนหน้า ซึ่งมีทิศทางที่ดีขึ้นสอดคล้องกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีแง่มุมนัยยะความเป็นรองที่เพศทางเลือกกลายเป็นส่วนเสริม และเกิดการตั้งคำถามต่อนิยามดังกล่าวว่าคนกลุ่มนี้สามารถเลือกเองหรือสังคมกำหนดให้ให้เลือก รวมถึงแฝงนัยยะว่าเพศคือสิ่งที่ ‘เลือกได้’ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวตนจริง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การถูกกดดันให้เปลี่ยนอัตลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศเพื่อกลับมาอยู่ในกรอบสังคมได้ และอาจสร้างปัญหาและความไม่เข้าใจในครอบครัวหรือกับผู้คนรอบข้าง
ในภาษาไทย “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” จึงเป็นคำที่ค่อนข้างมีความเป็นกลางทางภาษา ซึ่งมีนัยยะถึงความงามและมีความหมายสอดคล้องไปกับความซับซ้อน ความลื่นไหลทางเพศ ของทุกคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม โดยปัจจุบันคำนี้ได้ถูกใช้ในวงกว้างมากขึ้น แต่ก็ต้องระวังการทำลายอัตลักษณ์ทางเพศที่มีความเฉพาะ หรือ เกิดการสร้างภาพเหมารวมแบบใหม่ต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยเช่นกัน
ท้ายที่สุดแล้วคำนิยามอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศยังคงมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างมาตารฐานคำนิยามโดยปราศจากการตีตราเพื่อให้เกิดความเป็นกลางทางภาษาให้มากที่สุด หรือการตกลงกันระหว่างบุคลก่อนที่จะนำคำเรียกเพศต่อบุคลอื่นไปใช้อย่างเหมาะสมอาจะเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยให้เราเดินหน้าไปได้อย่างเท่าเทียม
การเคารพซึ่งตัวตนของกันและกันนั้นเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมที่มีความหลากหลาย ซึ่งไม่ว่าใครจะใช้คำไหนนิยามอัตลักษณ์ของตน เราก็ควรมีทัศนะที่เป็นกลางและหมั่นเช็คตัวเองเสมอว่าเรากำลังตัดสินด้วยอคติที่ถูกปลูกฝังมาอยู่หรือไม่ รวมถึงการไม่เลือกปฏิบัติ หรือใช้คำพูดเชิงขำขันล้อเลียนหรือเสียดสี ซึ่งเป็นการดูหมื่น ตีตรา และสร้างความเกลียดชังก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำเช่นกัน
#Homosexsual #LGBTQIA+ #Discourse #รักร่วมเพศ
Content by Phusit Phumeekham
Graphic by Chutimol k.
Edited by SPECTRUM Editorial Team
อ้างอิง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : https://bit.ly/3oVnA2P
วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต : https://bit.ly/3Sts8eo
โครงการประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 34 : https://bit.ly/3Q1wZ4F
Voice online : https://bit.ly/3BFT7NT
Law TU : https://bit.ly/3bwm3Nw
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน