พูดคุยกับ 4 ผู้กำกับพลังคนรุ่นใหม่ ในงาน Voices of the New Gen ผู้อยู่เบื้องหลังหนังสั้น 4 เรื่อง ที่สะท้อนปัญหาสังคม และการเมือง สามารถรับชมได้แล้วในโรงภาพยนตร์

- Advertisement -

Voices of the New Gen “เสียง (ไม่) เงียบ 2022” คือภาพยนตร์สั้นของนิสิตนักศึกษาจาก 4 สถาบัน ที่รวบรวมโดยสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เพื่อจัดฉายในโครงการ หนังเลือกทาง ที่ภายในภาพยนตร์แต่ละเรื่องก็ได้นำเสนอถึงเหล่าคนตัวเล็ก ๆ ที่อยากจะต่อสู้กับระบบอำนาจที่ใหญ่กว่า สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงบทบาททางเพศผ่านทางสังคมและการเมือง ที่ผู้กำกับรุ่นใหม่เหล่านี้อยากจะตะโกนบอกกับคนดู ผ่านแง่มุมต่าง ๆ ที่ชวนให้เราตั้งคำถาม ถึงสภาพสังคมที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้ และจุดไฟแห่งความหวังในการเปลี่ยนแปลงให้พวกเราอีกครั้ง

วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้กำกับเบื้องหลังภาพยนตร์สั้นทั้ง 4 เรื่อง ถึงข้อความ ความเกรี้ยวกราด และความหวังที่พวกเขามี ที่พวกเขาอยากส่งต่อผ่านภาพยนตร์เหล่านี้ รวมถึงมาร่วมกัน “ชำแหละ” โครงสร้างสังคมอันเน่าเฟะต่าง ๆ ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์นั้นกลายเป็นมากกว่าสิ่งบันเทิง แต่คือตัวกลางที่จะถ่ายทอดพลังและเสียงของคนรุ่นใหม่ให้สังคมได้รับรู้

“มันเริ่มจากช่วงปี 3 ปี 4 ที่เพื่อนเราเริ่มจับใบดำใบแดงกัน เราก็จะเห็นหน้า Facebook เพื่อนบ่นเรื่องนี้กันเยอะมาก หรือเพื่อนสนิทเราที่โตมาด้วยกัน ก็ต้องไปจับทหาร รู้สึกว่าตัวเองไม่อยากเป็น และเราว่าคนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากจะเป็นสิ่งนี้ และเพื่อนก็บอกว่า ต้องยัดเงินว่ะ คือเหตุผลที่เขาจะเอาเปรียบเรามันไร้สาระมาก และเราโมโหที่เพื่อนเราต้องมาเจอสิ่งนี้”

นี่คือเสียงของ ‘ดิว – กันตาภัทร พุทธสุวรรณ’ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘เรียบ / อาวุธ – After a Long Walk, He Stands Still’ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร กับเรื่องราวที่ถ่ายทอดชีวิตในค่ายทหารของ ‘ธง’ ทหารเกณฑ์หน้าใหม่ ที่ต้องเผชิญกับการปรับตัว เพื่อให้เข้ากับ “ระบบอำนาจเก่า” ทั้งระบบอาวุโส การคอรัปชั่น และความรุนแรงที่มีอยู่ในค่ายทหาร ที่ชวนให้เราเอาใจช่วยว่า ท้ายที่สุดแล้วตัวตนของธงจะถูกกลืนกินไปกับระบบอันเน่าเฟะเหล่านั้นหรือไม่

- Advertisement -

“ทั้งหมดทั้งมวลมันน่าจะสรุปเป็นคำว่า เราไม่เห็นประโยชน์ของการมีอยู่ของทหาร สำหรับในประเทศเรา คือเขาก็จะเน้นกันว่า ทหารปกป้องประเทศ แต่ว่าเราก็รู้กันอยู่ว่ามันไม่ใช่แบบนั้น คือปกป้องจากอะไรนึกออกไหม มันกลายเป็นเหมือนเราต้องปกป้องตัวเองจากทหารอะ”

“แล้วคนที่เขาไม่อยากเป็นทหารล่ะ หรือทหารมันเป็นการสมัครได้ไหม? มันเป็นทางเลือกได้ไหม? ไม่ใช่ว่าแบบบังคับว่าผู้ชายทุกคนต้องเป็น ถ้าเรารู้สึกว่าเกิดมาเป็นคนไทยแล้ว โอเคทุกคนรู้เท่ากันว่าอายุ 20 จะต้องไปเป็นทหาร ต้องไปเสี่ยงเป็นทหาร เรารู้สึกว่ามันดูเป็นข้อผูกมัดที่ไร้สาระมาก ๆ”

“เรารู้สึกว่าภาพยนตร์ต่างประเทศมันหลากหลายมาก มีทั้งภาพยนตร์ LGBT+ มีทั้งเรื่องเฟมินิสต์ มันมีหลาย ๆ มุมที่ให้เราได้ดู แต่ภาพยนตร์ในไทย มักจะเป็นภาพยนตร์ที่มาจากมุมมองของผู้ชาย หรือว่าเป็นเรื่องราวแอคชั่น เป็นหนังผีเสียส่วนมาก มันควรจะมีเรื่องราวที่เล่าเรื่องของคนอื่น ๆ ให้อุตสาหกรรมนี้มันหลากหลายขึ้นได้แล้ว”

นี่คือเสียงของ ‘หมวย – ฐามุยา ทัศนานุกุลกิจ’ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘สันดานกรุง – Bangkok Tradition’ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาพยนตร์สืบสวนที่มีกลิ่นของความตลกร้าย เมื่อ ‘ดารารัตน์’ พนักงานเอกสารในบริษัทหนังสือพิมพ์รู้ว่าเธอกำลังจะถูกไล่ออก เธอจึงตามสืบเรื่องข่าวนักร้องที่หายตัวไปของคาเฟ่แห่งหนึ่ง เนื่องจากนักข่าวคนเก่าที่ทำข่าวเรื่องนี้หายตัวไป เพื่อสานต่อความฝันในการเป็นนักข่าวของเธอ

“เราอยากจะพูดในเรื่องของการอุ้มหาย การปิดปากในยุคนั้น เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่าในยุคนั้น (พ.ศ. 2530) เป็นยุคที่เรียกได้ว่า คิดจะฆ่าใคร ยิงใคร หรือจะทำให้ใครหายไปเนี่ย มันสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายดาย และไม่มีใครตามตัวได้เจอ เรื่องพวกนี้มันเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา เหมือนกลายเป็น ‘สันดาน’ เป็นประเพณีของประเทศไทยไปแล้ว”

“เราอยากจะเล่าเรื่องราวในอดีตที่สะท้อนถึงปัจจุบัน เพราะว่าในยุคนี้ขนาดมีสื่อ มีกฎหมายแล้วที่แข็งแรงกว่าเมื่อก่อน แต่พอเราอยู่ในระบบการปกครองเผด็จการ ก็ยังมีคนถูกอุ้มหายอยู่ เราอยากจะเล่าหลาย ๆ มิติมาก ๆ ทั้งเรื่องของผู้หญิงที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ โรคระบาด ผู้มีอำนาจที่ทำสันดานเดิม ๆ ในการอุ้มคนอื่น”

“เราอยากเล่าเรื่องนี้ เรื่องของ Sex Worker ผู้หญิงในยุคนั้น ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องเจอมันคืออะไรบ้าง และมุมมองต่าง ๆ ของโลกในปี 2530 ที่มีต่อ Sex Worker คือถ้าได้มาชมในภาพยนตร์จะรู้สึกว่า เฮ้ยมันเหี้ยจัง แต่มันคือเรื่องจริงที่คนในยุคนั้นได้มีมุมมองต่อ Sex Worker เราอยากจะตีแผ่เรื่องนี้ ให้คนรู้สึกเกลียดชังต่อความคิดพวกนี้ และก็เปลี่ยนแปลง ทำให้ Sex Worker ถูกกฎหมายนะคะ มันจะได้ไม่ต้องมีการกดทับ พวกเขาจะได้มีตัวตน เหมือนเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งบนโลกสวยงามใบนี้เลย”

“เราสนใจเรื่องผีก่อน แต่ว่าเราไม่ได้กลัวผี หรือเชื่อเรื่องผี เราสนใจการมีอยู่ของผีในสังคมหรือในสื่อต่าง ๆ อย่างเรื่อง Hereditary ที่เป็นภาพยนตร์ Horror ที่ใช้ฟังก์ชั่นของผีเล่าเรื่องครอบครัวทายาทที่ถูกกดทับ ที่เราไม่สามารถมีทางเลือกได้ เรารู้สึกว่าการใช้ฟังก์ชันของผีมันน่าสนใจ เลยไป Research เพิ่มเกี่ยวกับเรื่องผี ซึ่งมันเกี่ยวโยงกับเรื่องความเชื่อ เรื่องจิตใต้สำนึกคนอะไรบ้าง เราก็เลยเลือกว่างั้นเรามาเล่าเรื่องของกลุ่มคนที่ชนชั้นนำมองว่าพวกเขาเป็นผี”

นี่คือเสียงของ ‘โจ – ปัญญา ชู’ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘แดนฝันสลาย – Fatherland’ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กับการนำเสนอเรื่องราวสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่ได้กดทับ “เฟย” และ “นก” ผู้คนทั้ง 2 เจนเนอเรชั่น ครอบครัวเล็ก ๆ ที่กำลังจะถูกไล่ที่เพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในขณะที่เฟยดิ้นรนเพื่อที่จะออกไปจากที่นี่ นกนั้นก็กำลังรอคอยใครคนหนึ่งกลับมาที่บ้านหลังนี้อย่างมีความหวัง

“ผมอยากเสนอว่าการถูกอุ้มหายหรือการหายตัวไปในการเมือง มันส่งผลกระทบต่อครอบครัวหนึ่งแค่ไหน ทั้งแบบขาดผู้นำครอบครัว ขาดคนช่วยหาเงิน สิ่งที่ยึดโยงเลยก็คือครอบครัวไปไหนไม่ได้ เพราะก็มีความหวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะกลับมา”

“หนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์เมื่อ 2 ปีที่แล้วครับ เมื่อช่วงเวลาที่ผมทำหนังเรื่องนี้ เป็นช่วงเวลาที่ประเด็นการเมืองมีข้อถกเถียงกันในฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ระหว่างสันติวิธีกับความรุนแรง ซึ่งก็ถกเถียงกันอย่างรุนแรงมากทั้งในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งผมรู้สึกสนใจประเด็นนี้เพราะในหลาย ๆ ครั้งตัวประเด็นแบบ เผด็จการประชาธิปไตย บางคนจะมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ว่าฉันเลือกข้างนี้”

“แต่ว่าพอมาสู่สภาวะนี้ฮะ ที่เราจะเลือกสันติวิธีหรือความรุนแรงในการขับเคลื่อน ผมรู้สึกว่าผมไม่สามารถจะเลือกแบบไหนได้อย่าง 100% มันขึ้นอยู่กับปัจจัยแล้วก็อะไรหลาย ๆ อย่าง ผมเลยพยายามจะพูดถึงประเด็นเหล่านี้ ทั้งเหตุผลและข้อโต้แย้งของทั้งสองฝ่าย มันมีความเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ตรงนี้”

นี่คือเสียงของ ‘แพท – กุลพัทธ์ เอมมาโนชญ์’ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘คืนพิพากษ์ – The Reproduction of a Catastrophic Reminiscence’ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตัวหนังได้นำเสนอแนวคิดระหว่าง “สันติวิธี” กับ “ความรุนแรง” ได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านบทสนทนาอันรุนแรงระหว่าง “นนท์” อดีตนักกิจกรรมที่วางมือ และ “หมี” หนึ่งในแนวหน้าของขบวนการปัจจุบัน ในค่ำคืนที่สถานการณ์การชุมนุมดูเหมือนจะใกล้ถึงจุดเดือดเต็มที

“มันคือการพยายามเอา 2 ข้อถกเถียงมาปูให้คนดูได้เห็นอยากเป็นรูปธรรมครับ ว่านี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเหตุการณ์บ้านเมืองทุกวันนี้ นี่คือเหตุผลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และเป็นหน้าที่ของคนดูว่าจะเลือกทางไหนจะดีที่สุด ต่อขบวนการ — ต่อให้เขาจะฆ่าคนได้มากเท่าไหร่ แต่ว่าตัวอุดมการณ์ทั้งหลายจะยังคงอยู่ ไม่ว่าจะขัดแย้งกันอยู่สักกี่ปี ความตั้งใจที่จะเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ มันจะยังคงอยู่ไม่หายไปไหน”

ในตอนนี้ Voices of the New Gen “เสียง (ไม่) เงียบ 2022” ฉายแล้วในโรงภาพยนตร์ โดยสามารถดูตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่นี่เลย: https://bit.ly/3Kw9FdL

#หนังเลือกทาง
#VoicesoftheNewGen2022
#เสียงไม่เงียบ2022

Content by Alexis to your Mimi
Graphic by Napas
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://bit.ly/3hhRUzp

อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://bit.ly/3hhRUzp
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน

- Advertisement -
กันตพงศ์ เชี่ยวพิมลพร
กันตพงศ์ เชี่ยวพิมลพร
นักหาทำอันดับหนึ่งที่คิดว่าจะยังคงหาทำต่อไปและตามหาตัวเองไปเรื่อยๆ เชื่อว่าเสียงของทุกคนมีความหมาย(วะวะว๊าว) เวลาว่างชอบทำตัวให้ไม่ว่าง(แฮ่)