
“คนจนล่ะมีสิทธิ์ไหมคะ คนจนล่ะมีสิทธิ์ไหมคะ มีงานให้ทำไหมคะ ปริญญาไม่มี แต่มีหีนะคะ แต่มีหมอยนะคะ”
เนื้อเพลงหมอลำดัดแปลงนี้ กลายเป็นไวรัลที่ผู้หญิงและคนที่เรียกตัวเองว่า ‘กะเทย’ ทั่วฟ้าเมืองไทยนำไปลิปซิงค์กันสนุกสนาน ใครมีหีก็ร้องท่อนนั้นดัง ๆ ใครไม่มีหีก็ร้องเหนียม ๆ แล้วหยอกล้อกันขำขันในหมู่เพื่อน แต่นอกจากการร้องเต้นกันเพื่อความสนุกแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลายคน ก็มีความรู้สึกร่วมไป ‘ความยากจน’ ที่สื่อสารผ่านเนื้อเพลงไม่น้อย
กระแสสังคมหลากหลายต่างวิพากษ์ถึงหีอย่างออกรสออกชาติ บ้างก็ว่าสิ่งนี้เป็นคำหยาบคาย บ้างก็ว่าช่างให้พลังคนจนที่ไม่มีอะไรนอกจากร่างกายเท่านั้น บ้างก็ค่อนแคะที่หอหีบสระอีคือเครื่องมือทำมาหากินที่เขาว่ากันว่าแทบไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรของคนเพศกำเนิดหญิง นานาทัศนะรอบ ๆ สื่อบันเทิงที่เล่าเรื่องความอัตคัตของผู้หญิงที่ถูกความจนทำร้าย ที่เหมือนจะลืมเลือนไปว่าแท้จริงแล้ว ‘หี’ ไม่ใช่เครื่องหมายของความเป็นหญิง และยังมี ‘ผู้หญิง’ ที่เข้าไม่ถึงหี (ที่หมายถึงการข้ามเพศ) อีกมากมาย – และยังมีผู้มีหี (ที่หมายถึงอวัยวะเพศ) อีกมากมายที่ไม่ได้เป็นผู้หญิง
เรากำลังพูดถึงกระบวนการข้ามเพศ เรื่องจำเป็นที่สังคมมองว่าเป็นความฟุ่มเฟือย มันจึงเข้าถึงไม่ได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเป็นทั้งคนจน เป็นทั้งคนไม่มีปริญญา และยิ่งเป็นคนไม่มีหีทั้งที่อยากมี มันช่างเต็มไปด้วยความ ‘ไม่มี’ เสียเหลือเกิน
#SPECTROGRAM: ปริญญาไม่มี แต่อยากมีหีนะคะ
ทุกวันนี้คนข้ามเพศ ผู้หญิงข้ามเพศ หรือกะเทย ยังถูกกีดกันจากระบบการศึกษาและการทำงาน จากผลสำรวจของ World Bank Group พบว่า 77% ของคนข้ามเพศถูกปฏิเสธจากการเข้าทำงานเพราะเพศสภาพ และ 23.3% ถูกเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงการศึกษาหรืออบรม นอกจากนี้เกินครึ่งของนักเรียนจากชุมชนเพศหลากหลายมีประสบการณ์ถูกรังแกและล้อเลียนในสถานศึกษา ส่งผลให้หลายรายตัดสินใจออกจากโรงเรียน หรือถูกผลักออกจากการศึกษา เมื่อการเล่าเรียนไปจนถึงได้มีปริญญา มีหน้าที่การงานที่ดีนั้นยากเย็นนักหนา ค่าแรงก็น้อยนิด ข้าวของก็แพงไม่ไหว กะเทยไทยจะเอาเงินจากไหนเล่าไปเสกให้มีหีได้ดังใจหวัง ในเมื่อค่าใช้จ่ายนั้นสูงไปจนถึงหลักแสน-หลักล้าน ทั้งกว่าจะไปถึงการผ่าตัดอวัยวะเพศก็มีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การพบแพทย์สารพัดแขนงที่ใช้ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แล้วบางคราแพทย์ที่ได้พบก็ไม่ละเอียดอ่อนพอจะเข้าใจว่าการไม่ได้เป็นตัวเองมันเจ็บแค่ไหน แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยกรอบคิดทางเพศที่ล้าหลัง
แต่หนทางสู่การเป็นตัวเองหรือกระบวนการยืนยันเพศนั้นไม่ได้มีเฉพาะการผ่าตัดอวัยวะเพศ แต่รวมไปถึงการใช้ฮอร์โมน การผ่าตัดเสริมหน้าอก การผ่าตัดเปลี่ยนเสียง กล่าวคือถ้าอยากจะเนียนนีก็ไม่ได้มีแค่ผ่าหีเท่านั้น แต่ยังต้องต่อสู้ฝ่าฟันอีกล้านแปดด่านที่ต่างต้องแลกมาด้วยต้นทุนทางการเงิน เวลา โอกาสในชีวิต และหลายรายต้องแลกด้วยสุขภาพกายและจิต คนข้ามเพศหลายรายเริ่มต้นกระบวนการยืนยันเพศจากการใช้ฮอร์โมน ในรายที่โชคดีและมีโอกาส ก็ได้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาแพทย์เพื่อรับฮอร์โมนในปริมาณที่เหมาะสม แต่ส่วนมากแล้วเราล้วนคุ้นชินว่าหญิงข้ามเพศหลายต่อหลายยุคมีประสบการณ์กินยาคุมกันเองด้วยหวังให้เป็นการปรับฮอร์โมนให้ละมุนนีขึ้นอย่างที่บอกต่อกันมา แม้จะรู้ว่ามีความเสี่ยงอยู่บ้างจากการใช้ยาคุมเองแบบไม่ปรึกษาแพทย์ แต่คนอยากเนียนนีที่เบี้ยน้อยหอยน้อยคนหนึ่งจะทำอะไรไปได้มากกว่านี้ในเมื่อเส้นทางสู่หีมันยาวไกลเหลือเกิน
#ทำไมการข้ามเพศถึงควรเป็นสวัสดิการ
แม้จะอยู่มาก่อนกาล แต่กว่าโลกจะพัฒนาทันจนเข้าใจว่าการอยากข้ามเพศ *ไม่ใช่ความผิดปกติ* ก็เป็นเวลาล่วงเลยมาถึงปี ค.ศ. 2019 เข้าไปแล้ว จากที่ก่อนหน้านี้เป็นความลื่นล้มทางการแพทย์และความโหดร้ายของสังคมที่มองว่าการที่คนคนหนึ่งอยากจะมีชีวิตในร่างกายที่สามารถพูดได้เต็มปากว่า ‘เป็นตัวเรา’ นั้นเป็น ‘ความผิดปกติ’ ที่ต้องได้รับการรักษาให้หายจากการอยากข้ามเพศไปจากเพศที่ถูกกำหนดให้เมื่อแรกเกิด ต่อมาเมื่อเข้าใจตรงกันแล้วว่าภาวะนี้ไม่ถือเป็นความผิดปกติ (disorder) จึงนำไปสู่การสร้างความเข้าใจใหม่ว่าการข้ามเพศนั้นไม่ใช่ภาวะผิดปกติที่ต้องรักษา แต่ผู้ที่ต้องการข้ามเพศเพราะอยู่ในร่างกายที่รู้สึกไม่ใช่ของตนเองนั้นอาจเกิดภาวะ Gender dysphoria ได้ นั่นทำให้คนข้ามเพศจำนวนมหาศาลต้องต่อสู้กับความทุกข์ทางจิตใจ และความยากลำบากในการเข้าถึงสิทธิและบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นในการใช้ชีวิต ไปโรงเรียนก็เสี่ยงโดนล้อ ไปสมัครงานเขาก็อาจจะไม่รับ ความทุกข์ที่รุมล้อมรอบด้านเหล่านี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อสุขภาวะและชีวิตความเป็นอยู่
คนเราจะมีชีวิตที่สงบสุขและร่างกายแข็งแรงได้อย่างไรหากไร้ซึ่งความสุขใจในเนื้อตัวร่างกายของเราเอง เราจะสงบสุขและแข็งแรงได้อย่างไรหากไร้ซึ่งเงินตราที่จะนำมาใช้ชีวิต ความทุกข์ทนเหล่านี้ไม่ใช่แค่การพรรณาถึงปัญหาร้อยแปด แต่เป็นชะตากรรมของคนข้ามเพศที่ยังคงต่อสู้อยู่จนตอนนี้ และยังมีคนข้ามเพศจำนวนมากที่สูญเสียชีวิตไปเพราะการไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในร่างกายที่ไม่รู้สึกถึงความเป็นตัวตน สถิติสะท้อนความจริงที่ว่าคนข้ามเพศพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ที่มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิดถึงเจ็ดเท่า และเราล้วนเคยอ่านข่าวเศร้าเหล่านั้นมาแล้วทั้งสิ้น
เมื่อการข้ามเพศสำคัญต่อตัวตนของประชาชน และคนจำนวนไม่น้อยยังต้องทนทุกข์ ก็เป็นหน้าที่รัฐที่ต้องดูแลให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี มีชีวิตอย่างมีเกียรติเฉกเช่น ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง เพราะการเข้าไม่ถึงกระบวนการข้ามเพศนั้นอาจเป็นภัยร้ายไม่แพ้โรคภัยไข้เจ็บใดและไม่ควรมีใครถูกทอดทิ้งไว้ในสังคมที่เลือกปฏิบัติ แค่เพราะเขา ‘จน’
#ปริญญาไม่มีแต่อยากมีหีนะคะ
#ผ่าตัดข้ามเพศ #ผ่าตัดยืนยันเพศ
#Healthcareforall #TransgenderDiscrimination
Content by Ms. Chapman & Ms.Satisfaction
Graphic by 7pxxch
อ้างอิง
CIM Journal: https://bit.ly/3PS6Yao
CH9 Wellness: https://bit.ly/3PRF1j7
MGR Online: https://bit.ly/3ES7Gy9
Time: https://bit.ly/466Aqz9
World Bank: https://bit.ly/3ry7JMr
กระทรวงแรงงาน: https://bit.ly/3PSrTKA
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: https://bit.ly/3PvSyLU
โรงพยาบาลยันฮี: https://bit.ly/48wWfJO