And every time I see
You in my dreams
I see your face
You’re haunting me
I guess I need you baby
เนื้อหาและมิวสิควีดีโอเพลง Everytime เป็นกระแสไปทั่วโลกออนไลน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังบริทนีย์ สเปียร์ส เผยผ่านหนังสือชีวประวัติ ‘The Woman in Me’ ว่าเคยทำแท้งขณะกำลังคบกับจัสติน ทิมเบอร์เลคเมื่อต้นช่วงปี 2000s เนื่องจากฝ่ายชายยังไม่พร้อมมีลูก ก่อนหน้านี้มิวสิควีดีโอดังกล่าวถูกตีความว่าเล่าถึงความสัมพันธ์ของเธอและจัสตินเนื่องจากเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2003 หลังทั้งคู่พึ่งจบความสัมพันธ์ราวหนึ่งปีก่อนหน้า แต่เมื่อเธอเผยเรื่องการทำแท้งที่ไม่เคยพูดถึงมานานกว่า 20 ปี มิวสิควีดีโอนี้จึงถูกหยิบมาตีความอีกครั้งว่าอาจเป็นการพยายามเล่าเรื่องราวความสูญเสียของเธอผ่านเพลงและเนื้อหาในวีดีโอ
ย้อนไปในปลายยุค 90s จนถึงต้นยุค 20s อาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จัก ‘บริทนีย์ สเปียร์ส’ ผู้ครองตำแหน่ง ‘เจ้าหญิงแห่งวงการเพลงป็อบ’ ตั้งแต่อายุ 18 ปี หลังประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายจากเพลง ‘…Baby One More Time’ เธอเป็นนักร้องที่มีเพลงฮิตและมักถูกจับตามองเสมอไม่ว่าจะเป็นผลงานเพลง มิวสิควีดีโอ แฟชั่นที่เธอสวมใส่ และคำตอบที่เธอพูดในรายการสัมภาษณ์ต่าง ๆ แม้จะมีแฟนเพลงรักใคร่มากมายแต่บริทนีย์มักตกเป็นของคำวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงเสมอ เธอถูกกำหนดให้มีภาพลักษณ์เป็นวัยรุ่นแก่แดดผู้แต่งตัวไม่เหมาะสม เป็นสาวบลอนด์ที่งุนงงเวลาตอบคำถาม เธอต้องเผชิญการตั้งคำถามที่รุนแรงจากสื่อ การวิจารณ์จากสังคม และการตกเป็นวัตถุทางเพศตั้งแต่อายุยังน้อย เรื่องส่วนตัวของเธอเป็นที่จับตามองและเป็นเป้าของเสียงวิพากษ์มากขึ้นหลังเปิดตัวคบหากับจัสติน ทิมเบอร์เลค สมาชิกบอยแบรนด์ NSYNC ที่กำลังได้รับความนิยมในยุคนั้น พวกเขากลายเป็น ‘Couple Goal’ เป็นที่รักของกล้องและแสงแฟลช ความสัมพันธ์ถูกส่องด้วยแสงไฟของวงการบันเทิงตลอดแม้กระทั่งหลังเลิกรากัน จัสตินให้สัมภาษณ์บ่อยครั้งว่าเขาเสียใจและแตกสลายจากความรักครั้งนี้ และเขายังปล่อยเพลงและมิวสิควีดีโอ ‘Cry Me a River’ ที่เรื่องราวในวีดีโอถูกตีความว่าหมายถึงบริทนีย์เนื่องจากนางเอกเอ็มวีมีผมสีบลอนด์ ใส่กางเกงยีนส์เอวต่ำ (ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเธอในช่วงนั้น) รวมไปถึงมีรอยสักคล้ายคลึงกับบริทนีย์ด้วย ปัจจัยหลายประการทำให้นักร้องสาวถูกโจมตีอีกครั้งจากการคาดเดาว่าเธอเป็นฝ่ายหักอกจัสตินผู้เป็นที่รักยิ่งของแฟน ๆ แม้ต่อมาเขากล่าวว่าทั้งคู่จบด้วยดีและตนไม่ได้มีเจตนาพาดพิงถึงเธอในทางลบแม้แต่น้อย
เวลาล่วงเลยไปบริทนีย์ผ่านเรื่องราวมากมายและยังคงเป็นหนึ่งในคนดังที่ถูกจับตาพฤติกรรมมากที่สุด เธอถูกติดตามใกล้ชิดและกลายเป็นประเด็นใหญ่โตเมื่อโกนผมตัวเองท่ามกลางการจับจ้องของสังคมในปีค.ศ. 2007 เธอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและสถานบริการด้านสุขภาพจิตบ่อยครั้ง สังคมโจมตีว่าเธอไม่มั่นคง เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี แทบไม่มีสำนักข่าวไหนรายงานความเจ็บปวดที่เธอกำลังเผชิญ ความเห็นอกเห็นใจจากสื่อเป็นสิ่งที่แทบหาไม่ได้ในช่วงนั้นและอีกหลายปีต่อมา จนกระทั่ง #FreeBritney เริ่มเป็นที่สนใจหลังแฟนคลับร่วมกันสร้างแฮชแท็กเรียกร้องให้บริทนีย์เป็นอิสระจากการอยู่ใต้ ‘สภาพการมีผู้พิทักษ์ดูแล’ หรือ Conservatorship ซึ่งพ่อของเธอเป็นผู้ดูแลการรับงาน การใช้จ่าย รวมไปถึงการตัดสินใจแทบทั้งหมดในชีวิตประจำวัน การเคลื่อนไหวเรียกร้องนี้เกิดขึ้นหลังแฟนเพลงจำนวนมากสงสัยว่าเธอถูกบังคับให้ขึ้นแสดงโดยไม่เต็มใจ หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าเธอถูกทำร้ายหรือบังคับใช้ยาเพื่อทำงาน รวมไปถึงถูกบังคับให้เข้ารับการรักษาทางจิตเวชด้วย การเคลื่อนไหวนี้เรียกร้องให้บริทนีย์มีอิสระจากการถูกควบคุมและสามารถใช้ชีวิตได้เองตามสิทธิมนุษยชนอันหมายถึงการที่เธอสามารถตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายตัวเองได้อย่างไม่ถูกบังคับกดดัน เธอต่อสู้พร้อมการสนับสนุนจากแฟนเพลง จนกระทั่งได้รับอิสระจากการตกอยู่ใต้สภาพการมีผู้พิทักษ์ดูแลที่กินเวลายาวนานกว่า 13 ปีเริ่มจากปีค.ศ. 2008
‘The Woman in Me’ เป็นหนังสือที่บริทนีย์เล่าเรื่องราวในชีวิตของเธอตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เนื้อหากล่าวถึงความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน สภาพการมีผู้พิทักษ์ดูแล และชีวิตรักของเธอ หนังสือเป็นกระแสในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังบริทนีย์เผยว่าเคยทำแท้งขณะกำลังคบกับจัสติน ทิมเบอร์เลคเมื่อต้นช่วงปี 2000s เนื่องจากฝ่ายชายยังไม่พร้อมมีลูก เธอระบุชัดว่ารู้สึกเสียใจที่ทำแท้งเพราะนั่น ‘ไม่ใช่การตัดสินใจของเธอเพียงคนเดียว’ และหากตนได้สิทธิในการตัดสินใจเองเพียงลำพังก็คงจะไม่ทำแท้งแน่ เธอมองว่าการท้องในครั้งนั้นแม้จะเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจแต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า เพราะเธอเองตั้งใจจะสร้างครอบครัวอยู่แล้ว การตั้งครรภ์ในครั้งนั้นเพียงแค่เกิดขึ้นไวกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม เธอทำแท้งด้วยเหตุผลว่าจัสตินผู้เป็นแฟนหนุ่มในขณะนั้นคิดว่าพวกเขาเด็กเกินไป ภายหลังเรื่องราวนี้ถูกส่งต่อในโซเชียลมีเดีย กระแสตอบรับแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คนส่วนมากเห็นใจเธอและเข้าใจว่าการตกอยู่ในสภาพที่ต้องตัดสินใจเพราะไร้แรงสนับสนุนจากพาร์ทเนอร์ในขณะนั้นเป็นความโหดร้ายอันนำไปสู่การถูกบีบให้ทำแท้งในที่สุด ในขณะที่อีกฝ่ายมองว่าบริทนีย์ไม่ควรออกมาเปิดเผยเรื่องราวหลังเวลาผ่านไปนานกว่า 20 ปี คนกลุ่มนี้มองว่าเธอตั้งใจทำลายชีวิตเขาเพราะหวังยอดจองหนังสือ– แต่นี่เป็นเรื่องราวของเธอ ในฐานะเจ้าของเนื้อตัวร่างกาย เธอมีสิทธิจะพูดถึงการทำแท้งนี้ได้ในช่วงเวลาที่เธอเลือก ด้วยวิธีการที่เธอเลือก
#การตัดสินใจทำแท้งเป็นสิทธิของเจ้าของเจ้าร่างกายแต่เพียงผู้เดียว แต่ถึงอย่างนั้นแรงสนับสนุนและความกดดันจากคนรอบข้างก็เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่การทำแท้งถูกมองเป็นเรื่องเลวร้าย การต้องเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการทำแท้งที่แม้จะไม่ซับซ้อนและปลอดภัยก็ยังเต็มไปด้วยอุปสรรคทางสังคม ผลสำรวจจากปีค.ศ. 2023 พบว่าผู้ที่เคยทำแท้ง 60% รู้สึกว่าหากมีทางเลือกอื่น หรือได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างมากกว่านี้ก็คงไม่ตัดสินใจทำแท้ง เนื้อหาในงานวิจัยชิ้นนี้กล่างถึงความเสียใจของผู้ที่ทำแท้งอันเกิดจากความรู้สึกว่าไม่ได้มีสิทธิมีเสียงมากพอในการตัดสินใจในครั้งนั้นเนื่องด้วยความกดดันทางสภาพแวดล้อม เช่น ปัญหาทางการเงิน ไม่ได้รับข้อมูลรอบด้าน และไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากคนรอบตัว ผลสำรวจอีกชิ้นยังชี้ให้เห็นว่าผู้ที่เคยทำแท้งกว่า 95% รู้สึกว่าตัดสินใจถูกต้องแล้วที่ทำแท้ง ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามหลายรายระบุว่าต่อให้ย้อนกลับไปก็ยังคงตัดสินใจแบบเดิม ประเด็นจำเป็นที่ต้องเน้นจากการวิเคราะห์ผลสำรวจสองชิ้นนี้คือ นี่ไม่ใช่ข้อมูลที่หักล้างกันแต่อย่างใด งานวิจัยสองชิ้นนี้ล้วนชี้ให้เห็นว่าการเสียใจหลังทำแท้งอาจเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะทำแท้งเนื่องจากเหตุปัจจัยที่จำเป็นหรือตัดสินใจมาแล้วอย่างดีเพียงไหน และไม่ว่าจะมั่นใจว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสมก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ผ่านประสบการณ์ทำแท้งจะไม่นึกถึงความเป็นไปได้อื่น ๆ หากพวกเขาตัดสินใจเก็บครรภ์นั้นไว้ นี่เป็นอีกหนึ่งความคิดประเภท ‘แล้วถ้าเรา…’ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาตัดสินใจผิดที่ทำแท้ง หรือเสียใจและต้องการแก้ไขอดีต เนื้อหาสำคัญในเรื่องราวนี้คือผู้ตั้งครรภ์จำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน ได้รับแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง มีระบบสนับสนุนจากภาครัฐ ทุกการตัดสินใจจำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยเจ้าของร่างกายมีสิทธิมีเสียงเต็มที่ในการตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองโดยปราศจากการบังคับกดดัน เมื่อใดก็ตามที่ผู้ตั้งครรภ์ถูกบีบให้จำเป็นต้องเลือกระหว่างการรักษาความสัมพันธ์กับการตัดสินใจทำแท้ง/คลอดบุตร เมื่อนั้นคือการบังคับกดดันทางอ้อม และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงใด เจ้าของประสบการณ์มีสิทธิและอำนาจเต็มที่ในการเปิดเผยเรื่องราวของตน
เนื้อเพลงและมิวสิควีดีโอ Everytime อาจเป็นข้อความที่บริทนีย์พยายามสื่อสารความเจ็บปวดในช่วงชีวิตหนึ่งของเธอ และประเด็นสำคัญในเรื่องนี้อาจไม่ใช่การพยายามหาว่าเพลงนี้ตั้งใจสื่อถึงใคร แต่เป็นการเข้าใจว่าคนที่สำคัญที่สุดในประเด็นนี้คือ ‘เธอ’ ผู้เป็นเจ้าของประสบการณ์และแบกรับความเจ็บปวดนั้นเพียงลำพัง
#BritneySpears #JustinTimberlake #WomenInMe #Popmusic20s #Conservatorship #FreeBritney
อ้างอิง
Billboard:https://bit.ly/46TL6RN, https://bit.ly/46tRe3n
CNN: https://bit.ly/46Wn8oX
The EUC: https://bit.ly/46UqYPs
UCSF: https://bit.ly/46DqXQ7
Content by Ms. Chapman
Graphic by 7pxxch
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
“กรุณาแสดงความเห็นอย่างสุภาพและสร้างสรรค์ ทีมงานสงวนสิทธิ์ในการลบหรือดำเนินการตามสมควร กับความเห็นที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น”