นาดา – เปิดชีวิตของนักกฏหมายอัตลักษณ์ Intersex กว่าจะมาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิเพศหลากหลาย

- Advertisement -

- Advertisement -

‘Intersex’ (อินเตอร์เซ็กซ์) คือ ผู้มีลักษณะทางร่างกายไม่เป็น ชาย-หญิง ชัดเจน โดยสามารถแสดงออกทางกายภาพได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นผลมาจากการมีโครโมโซมเพศที่แตกต่าง

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ประชากรอินเตอร์เซ็กซ์นั้นมีจำนวนถึง 1.7% ในโลกนี้ ซึ่งถือว่ามากกว่าจำนวนฝาแฝดบนโลกนี้ซะอีก แต่ด้วยอัตลักษณ์ของอินเตอร์เซ็กซ์ที่อาจจะไม่ได้เห็นได้ชัดเจน ทำให้พวกเขาไม่เคยได้ถูกทำความเข้าใจมากพอเท่าที่ควรเป็น

โดยในวันนี้เราได้โอกาสพูดคุยกับบุคคลอินเตอร์เซ็กซ์ในประเทศไทย ‘นาดา ไชยจิตต์’ นักกฎหมาย มุสลิม และกรรมการบริหารพรรค และหัวหน้าคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางเพศ จากพรรคไทยสร้างไทย ถึงประสบการณ์ความเจ็บปวดของชาวอินเตอร์เซ็กซ์ในไทย จากทั้งครอบครัว สังคม กฎหมาย หรือระบบสองเพศ (Binary) ที่ได้กีดกันอินเตอร์เซ็กซ์ออกไป

SPECTRUM OF HUMAN: นาดา ไชยจิตต์ – เปิดชีวิตของนักกฎหมายอัตลักษณ์ Intersex กว่าจะมาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิเพศหลากหลาย

[TW: การพยายามฆ่าตัวตาย, การล่วงละเมิดทางเพศ]

“จริง ๆ ตอนเด็กเราเริ่มรู้ตัวว่าเราเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ตอนที่ญาติพี่น้องเราชอบมาล้อเราตอนนั้นว่า เราเนี่ยเหมือนเป็นคนมีตูดสองรู เขาก็จะแบบชอบพูดอย่างนี้ โดยเฉพาะปู่เนี่ยค่ะจะชอบเจอกันทีไรจะชอบล้อ ล้อเป็นภาษาเหนือ ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร แต่เรารู้ว่าเราเนี่ยไม่เหมือนพี่ชาย”

อัตลักษณ์อินเตอร์เซ็กซ์ที่ยังไม่ถูกเข้าใจ – นาดาได้เล่าว่าเธอได้เติบโตมาในสังคมพหุวัฒนธรรม จากวัฒนธรรมแบบคนเหนือของทางฝั่งพ่อของเธอ แต่ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในวัยเด็กกับวัฒนธรรมแบบมุสลิมภาคใต้จากทางฝั่งบ้านแม่ของเธอ และได้สัมผัสกับความ “เป็นอื่น” ตั้งแต่เด็ก ๆ จากความชายเป็นใหญ่และระบบสองเพศที่ฝังลึก

“สิ่งที่ทำให้เรารู้ว่าที่บ้านพยายามจัดการกับความเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ของเรา คือการตั้งชื่อ เรามีพี่ชายสามคน ทุกคนขึ้นชื่อด้วยจ.จานหมดเลย แต่พอเป็นเรา ทำไมเราชื่อบอยอยู่คนเดียว พ่อเขาก็จะเปิด สตาร์วอร์ส แบทแมนอะไรพวกนี้ให้ฟัง บางครั้งเนี่ยเขาก็จะจับเรามาแบบพูดกับเราแบบมึงรู้มั้ยจู๋มึงใหญ่มาก มึงต้องรู้นะจู๋มึงใหญ่อะไรอย่างนี้ เหมือนเพื่อจะทำให้เรารู้สึกว่าจงเป็นชายนะลูก จงเป็นชาย”

“จบ ม.6 เราเริ่มไว้ผมยาว ใช้ชีวิตเป็นหญิงมากขึ้น เราแต่งตัว Unisex ร่างกายเราเป็นอินเตอร์เซ็กซ์เนอะมันเอื้อมาก ดูยังไงก็เป็นหญิงเงี้ย พ่อก็แบบกลับบ้านทีไรก็มีเรื่องแบบทะเลาะกันตลอดเวลา พ่อเองเขาเคยโดนกะเทยอะลวนลาม เขาก็มีอคติมาตลอดโดนไป ครั้งเดียวก็มีภาพฝังหัวเลย เขาใช้ทั้งความรุนแรง ใช้พระเดชพระคุณในการที่จะจัดการกับความเป็นหญิงของเรามาตั้งแต่เด็ก” (หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันปัจจุบันครอบครัวคือพลังใจ เป็นแรงสนับสนุนหลักสำคัญของนาดา ในการทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด)

ด้วยประสบการณ์ความรุนแรง การเลือกปฏิบัติและการตีตรา จากทั้งแวดวงโรงเรียนและครอบครัว การไม่เข้าใจในอัตลักษณ์อินเตอร์เซ็กซ์และความเป็นหญิงในตัวนาดา ทำให้ช่วงม.ปลายโรคซึมเศร้าเริ่มคลืบคลานเข้ามาหาตัวเธอ และเคยได้หาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย

“ที่แม่เล่าให้ฟังนะพาเราไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอก็ถามว่าลูกสาวเป็นอะไร อ้าวนี่เอกสารประจำตัวเป็นระบุเป็นชายนี่ เขากินยาฆ่าตัวตายใช่ไหม พ่อแม่ทำอะไรหรือเปล่า กลายเป็นว่าคำถามหมอก็ทำให้พ่อกับแม่รู้สึกผิดขึ้นไปอีกว่าเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกอะฆ่าตัวตาย”

“ตื่นมาเราจำได้ว่าก็เรากลับไปอยู่บ้านแล้ว แล้วพ่อเนี่ยลงมา เห็นเรานั่งเอ๋ออยู่บนโต๊ะกินข้าว เขาก็เดินมากอดเราหอมเราแล้วก็บอกว่าเขารักเรามาก แล้วเขาก็ตั้งสตางค์ค่าขนมไว้ร้อยนึงแล้วเขาก็ออกจากบ้านไปเลย ไปอยู่เชียงราย เขาบอกเขาไม่สามารถที่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราอยากฆ่าตัวตายได้อีก”

การผ่าตัดที่ ‘เด็ก’ ไม่ได้เลือกเอง – สิ่งที่เด็กหลายคนได้พบเจอเมื่อเกิดมาแล้วเป็นอินเตอร์เซ็กซ์คือการผ่าตัดซ่อมเพศ (Sex Correction Surgery) ที่เป็นการมองว่าภาวะอินเตอร์เซ็กซ์นั้นคือความผิดปกติ และมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กคนนั้นมีลักษณะทางกายภาพที่เข้าไปอยู่ในกรอบเพศของชายหรือหญิงเท่านั้น ซึ่งหลายครั้งการผ่าตัดนี้เป็นการตกลงร่วมของแพทย์และผู้ปกครองเท่านั้น โดยที่เด็กไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจนั้นเลย

“อินเตอร์เซ็กซ์นี่ถูกเงื้อมมืออำนาจทางการแพทย์เข้ามาจัดการเนื้อตัวร่างกายเราตั้งแต่เด็ก — ความรู้ด้านการแพทย์ที่เกี่ยวกับอินเตอร์เซ็กซ์ เราเจอองค์กรที่เข้าใจน้อยมาก อย่างโรงพยาบาลศิริราช แพทย์ก็จะมองว่าเราเป็น ‘คนที่ผิดปกติ’ ต้องมีการรักษาด้วยการผ่าตัด ด้วยการให้ฮอร์โมนเพื่อทำให้กลับไปสู่ภาวะปกติ ซึ่งภาวะปกติของเขานี้มันหมายถึงภาวะของชายที่สมบูรณ์ หรือหญิงที่สมบูรณ์”

“ขอยืนยันนะคะว่าการผ่าตัดซ่อมเพศ ไม่จำเป็นสำหรับอินเตอร์เซ็กซ์ทุกคนและต้องระมัดระวังมาก ต้องทำเท่าที่ช่วยให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข เช่น ถ้าความซับซ้อนของอวัยวะเพศมันมีผลต่อการใช้ชีวิตเช่นการขับถ่าย อันนี้จำเป็นค่ะ แต่ต้องทำเฉพาะเท่าที่ช่วยให้เขาเนี่ยขับถ่ายได้ ไม่ต้องไปซ่อมหรือไปสร้าง ไปลบ ไปตัดอะไรที่ทำให้เขาสูญเสียโอกาสในการที่เขาจะเลือกว่าเขาจะเป็นเพศอะไรในอนาคต”

ระบบสองเพศที่ฝังรากในกฎหมาย – ถ้ามองในด้านกฎหมายคุ้มครอง นาดาเล่าให้เราฟังว่า องคาพยพของกฎหมายไทยนั้น มีพื้นฐานมาจากระบบสองเพศ ที่มองบุคคลเป็นแค่ชายหรือหญิงคู่กันเท่านั้น ทำให้บัญญัติกฎหมายเพื่อบุคคลเพศหลากหลายยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในไทย อย่างการเปลี่ยนคำนำหน้านาม สิทธิ์ในการรับรองเพศ หรือสมรสเท่าเทียม ทำให้กลุ่มเพศหลากหลาย รวมถึงคนข้ามเพศ นอนไบนารี และอินเตอร์เซ็กซ์ ถูกผลักไสออกไป

“พอเป็นกฎหมายอะมันไม่เอื้อ มันไม่ชอบให้คนน่ะอยู่ตรงกลาง บังคับให้เราเลือกเพศใดเพศหนึ่ง — เราเคยสัมภาษณ์คนที่เป็นคนดูแลเรื่องประวัติทะเบียนบ้านค่ะ เขาบอกว่าถ้าเกิดว่ามีการเขียนว่าเป็นเพศกำกวมหรือไม่ระบุมาเนี่ย เราก็จะไม่ใส่คำนำหน้านาม เขาจะรอจนเด็กโตก่อนให้เลือกเพศได้ก่อนแล้วค่อยมาระบุทีหลัง ก็สามารถทำได้เหมือนกัน”

“แม้กระทั่งว่าพอหมอระบุเพศกำกวมหรือเว้นว่างไว้ ทางสำนักงานเขตหรืออำเภอเนี่ยเขาก็จะไม่ระบุให้ รอให้จนโตก็มีค่ะ เพียงแต่ว่าความรู้พวกนี้มันไม่เคยถ่ายทอดหรอก ใครจะมาปล่อยให้เด็กคนหนึ่งโตมาแล้วไม่มีเพศ ส่วนใหญ่พ่อแม่กับหมอก็ดิ้นรนกระเสือกกระสนไปเลือกเพศให้ลูกอยู่ดีค่ะ”

ในปัจจุบัน นาดาได้ทำงานในด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้ต่อสู้เพื่อกลุ่มบุคคลเพศหลากหลาย เพื่อให้เราได้สิทธิทัดเทียมกับทุกคนในสังคม (มายาวนานกว่า 15 ปี) ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นจากบทสนทนากว่า 2 ชั่วโมงที่เราได้คุยกับนาดาเท่านั้น เธอยังได้เล่าถึงประสบการณ์การโดนล่วงละเมิดทางเพศ ความสัมพันธ์ในชีวิตรัก เซ็กซ์ และชีวิตการทำงานของบุคคลอินเตอร์เซ็กซ์อีกด้วย

“เราคือความเป็นธรรมชาติ เราคือสิ่งที่ยืนยันว่าระบบสองเพศแบบขั้วตรงข้ามคือเรื่องจอมปลอม มนุษย์ไม่ได้มีสองเพศ มนุษย์ไม่ได้มีแค่สองเพศสรีระอีกต่อไป มันหลากหลายกว่านั้น”

สำหรับใครที่สนใจฟังเนื้อหาแบบเต็ม ๆ สามารถดูได้ที่นี่เลย: https://bit.ly/3Sy0n44
และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารจากกลุ่ม Intersex Thailand ได้เลยที่: https://bit.ly/3S9T81Q

#นาดาไชยจิตต์ #NadaChaiyajit #อินเตอร์เซ็กซ์ #Intersex #SPECTRUMOFHUMAN

Content by Alexis to Your Mimi, Pani S
Graphic by Napas

อ้างอิง
Amnesty: https://bit.ly/3qVougL
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน

- Advertisement -
SPECTRUM
SPECTRUM
พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน