มูกิล อันบู วสันธา (Mugil Anbu Vasantha) นักศึกษาข้ามเพศชาวอินเดียชนะคดีฟ้องร้องเหตุมหาวิทยาลัยกฎหมายของอินเดีย (National Law School of India University: NLSIU) ปฎิเสธไม่รับเข้าเรียนโดยให้เหตุผลว่า ‘คุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์’ แม้เจ้าตัวจะสอบผ่านเกณฑ์ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังปฎิเสธการใช้ระบบสำรองที่นั่ง (Reservation System) กับนักศึกษาข้ามเพศ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญของอินเดียที่ได้ระบุในปีพ.ศ. 2554 ให้คนข้ามเพศได้รับสิทธิในระบบสำรองที่นั่งที่ใช้กันสิทธิ์การเข้าถึงโอกาสในสถาบันการศึกษาไว้สำหรับกลุ่มเปราะบางทางสังคมด้วย โดยมหาวิทยาลัยเลือกมอบสิทธินี้ให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางจากชนชั้น ชาติพันธ์ุ กลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ และกลุ่มล้าหลังทางการศึกษาหรือทางสังคม
ศาลสูงของรัฐกรณาฏกะ (Karnataka’s High Court) ที่ตัดสินคดีความนี้ได้ประกาศชัดว่ามูกิล (Mugil Anbu Vasantha) จะต้องได้รับสิทธิในการศึกษาเทียบเท่ากับนักศึกษาคนอื่นทุกประการ และการไม่ระบุถึงสิทธิของคนข้ามเพศในระบบสำรองที่นั่งของมหาวิทยาลัยกฎหมายอินเดีย (National Law School of India University: NLSIU) เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนข้ามเพศสมควรได้รับการปกป้อง โดยมหาวิทยาลัยมีหน้าที่รับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องให้ความสำคัญกับสิทธิของนักศึกษาข้ามเพศผู้ร้องเรียนรวมไปถึงคนข้ามเพศคนอื่นด้วย
อินเดียมีการใช้ระบบสำรองที่นั่ง (Reservation System) ที่ใช้กันสิทธิ์การเข้าถึงตำแหน่งงานในภาครัฐ สถาบันการศึกษา และสภานิติบัญญัติ ให้กับกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่พบว่ามักต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าการศึกษาและหน้าที่การงานมากกว่ากลุ่มอื่นที่มีโอกาสทางสังคมสูงกว่า ซึ่งในปีพ.ศ. 2554 รัฐธรรมนูญของอินเดียได้กำหนดให้กลุ่มคนข้ามเพศเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางทางสังคม และได้ระบุให้รัฐบาลเร่งนำนโยบายที่โอบรับคนข้ามเพศนี้ไปใช้ เนื่องจากเป็นคนกลุ่มที่ต้องเผชิญความยากลำบากในการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ซึ่งมีตัวเลขกว่า 60% ของคนข้ามเพศในอินเดียไม่ได้เข้าโรงเรียน และร้อยละ 96 ของคนข้ามเพศวัยทำงานต้องเผชิญกับการถูกปฏิเสธงานไปจนถึงถูกบีบบังคับให้ทำงานที่รายได้ต่ำ และอินเดียยังมีกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของคนข้ามเพศ (Transgender Persons Protection Rights Act 2019) ซึ่งพิทักษ์สิทธิให้คนข้ามเพศสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะรวมถึงสถาบันการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
#โควตาสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ
มหาวิทยาลัยกฎหมายของอินเดีย (National Law School of India University: NLSIU) ระบุว่าเกณฑ์การรับนักศึกษาในระบบรองที่นั่งของมหาวิทยาลัยได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าไม่รวมถึงกลุ่มคนข้ามเพศ และไม่ได้ระบุถึงคนกลุ่มนี้ในประกาศของมหาวิทยาลัย และยืนยันว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ในประเทศ อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยทั่วโลกและในอินเดียเองเริ่มมีการพิจารณานำระบบโควตาเข้ามาใช้สำหรับนักศึกษาที่เป็นกลุ่มคนข้ามเพศ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมามหาวิทยาลัยลัคเนา (University of Lucknow) ในอินเดียได้เริ่มเปิดรับสมัครสำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะ นอกจากนี้มหาวิยาลัยยังมีตัวแทนคนข้ามเพศในการร่วมกำหนดนโยบายเพื่อรักษาสิทธิของคนข้ามเพศ และอยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อให้สิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยเป็นมิตรและโอบรับคนข้ามเพศมากขึ้น
และเมื่อต้นปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยดากา (Dhaka University) ก็ได้เริ่มมีโควตาสำหรับนักศึกษาข้ามเพศด้วยเช่นกัน หลังอันกีตา อิสลาม (Ankita Islam) เข้าเป็นนักศึกษาข้ามเพศคนแรกของมหาวิทยาลัยเมื่อธันวาคมปีพ.ศ. 2565 นอกจากนี้มหาวิทยาลัยสตรีหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการรับนักศึกษาหญิงข้ามเพศแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 และมีแนวโน้มกำลังจะเปิดเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยสตรีญี่ปุ่น (Japan Women’s University) กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาหญิงข้ามเพศในปีการศึกษาหน้า (พ.ศ. 2566) และจะตามด้วยมหาวิทยาลัยซึดะที่จะเริ่มต้นรับสมัครในปีพ.ศ. 2568 ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของประเทศบราซิลได้ประกาศเจตจำนงที่จะสร้างโควตาการจ้างงานเฉพาะสำหรับคนข้ามเพศด้วย
#TransgenderQouta #LGBTQouta #TransDiscrimination #GenderBasedDiscrimination
Content by Ms. Chapman
Graphic by Ms.Satisfaction
อ้างอิง
Asia News: https://bit.ly/3R39Ylq
EL PAIS: https://bit.ly/3ErrIiS
Knock Sense: https://bit.ly/3sFWW36
Legal Service India: https://bit.ly/3L9Zr4i
Outlook India: https://bit.ly/3EwSNRz
Pink News: https://bit.ly/3r0WfAYThe Asian Shimbun: https://bit.ly/461PLkh