- Advertisement -
TW: Mass Shooting (การกราดยิง), Murder (การฆาตกรรม), Gun Violence
เหตุการณ์ #กราดยิงหนองบัวลำพู อันน่าสลดใจ ที่มีเด็กเล็กถูกยิงเสียชีวิตศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู ก่อนที่ตัวผู้ก่อเหตุจะกลับมายิงภรรยาและวิสามัญตัวเอง โดยมียอดผู้เสียชีวิต 37 คน รวมผู้ก่อเหตุ และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 10 คน นั้นกลายเป็นเรื่องที่สะเทือนใจไปทั่วประเทศไทยและสังคมโลก
โดยเบื้องต้นนั้นเราทราบข้อมูลว่าผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจที่ถูกไล่ออกจากราชการเนื่องจากเข้าไปพัวพันในคดียาเสพติด ส่วนแรงจูงใจหลักนั้นยังไม่ชัดเจน ซึ่งก็มีการคาดเดาไปว่าอาจเป็นการโกรธแค้นจากที่โดนเหยียดหยามหลังถูกไล่ออกจากงาน ความเครียดสะสม ปัญหาขัดแย้งกับภรรยา และมองว่าเด็กเล็กคือเหยื่อที่ไม่มีอำนาจต่อสู้ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นที่สนใจของประชาชนที่ติดตามข่าวหลายคน คืออาชีพของผู้ก่อเหตุ ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าทำไมคดีอุกอาจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นผู้ก่อเหตุถึงได้เป็น “ผู้พิทักษ์ความสงบ” เสียเองอยู่เรื่อยไป ?
ย้อนกลับไป เมื่อกันยายนที่ผ่านมา ได้มีเหตุการณ์ “จ่าคลั่ง” ยิงคนในกรมยุทธศึกษาทหารบก เสียชีวิต 2 ราย เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา มีการกราดยิงในโรงพยาบาลสนาม มีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย โดยก่อนมาถึงรพ.นั้นผู้ก่อเหตุก็ได้ยิงคนมาก่อนแล้ว ส่วนเมื่อปี 2563 ก็มีเหตุการณ์กราดยิงโคราช ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 37 ราย
ทั้งหมดนี้ผู้ก่อเหตุคืออดีตทหารและตำรวจผู้มีเพศกำหนดชายทั้งหมด การพาดหัวข่าวก็มักจะเป็นไปในเชิง “จ่าคลั่ง” หรือ “ตำรวจคลั่ง” ต่าง ๆ นา ๆ ที่สื่อให้เห็นถึงการไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ และนอกเหนือไปกว่านั้นคือ เหยื่อความรุนแรงแทบทั้งหมดนั้นไม่เคยมีปัญหาส่วนตัวใด ๆ กับผู้ก่อเหตุมาก่อนเลย
แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาทับซ้อนเชิงสังคม ที่มีหลากปัจจัยเชิงโครงสร้างและสังคมที่ต้องถูกตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิบัติงาน ปัญหาการตรวจสอบการเข้าถึงอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ มาตรการตรวจสอบบุคลากรที่ไม่ถี่ถ้วน ชนชั้น เศรษฐกิจ ตลอดจนระบบอุปถัมภ์ และอำนาจนิยมภายในองค์กร
แต่อีกประเด็นที่เราอยากจะพูดถึงในวันนี้คือมุมมองในเรื่องอคติทางเพศ ความเป็นชายเป็นพิษที่ถูกกล่อมเกลาในระบบราชการทหาร-ตำรวจ ซึ่งเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่แฝงตัวอยู่อย่างแนบเนียนและไม่ถูกมองเห็นมากนัก แต่ก็ได้เคยถูกยกมาตั้งคำถามและวิเคราะห์ร่วมกับคดีอาชญากรรมความรุนแรงอยู่หลายครั้งแล้ว
‘Toxic Masculinity’ หรือ ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ ไม่ใช่การกล่าวว่าด่าทอผู้ชายในฐานะปัจเจก แต่คือแนวคิดของสังคมที่มักจะผูกติด “ความเป็นชาย” ไว้กับความท็อกซิก ซึ่งในที่นี้หมายถึงความแข็งกร้าว รุนแรง ทนทาน เป็นใหญ่กว่าเพศอื่น ห้ามแสดงด้านที่อ่อนไหว เพื่อยึดถือไว้ซึ่งความเป็นชายที่ “แท้” จริง
ในประเทศอย่างอเมริกา ที่เราทราบกันดีว่ามีเหตุการณ์รูปแบบนี้เกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง ทำให้ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของ อคติทางเพศ ความเป็นชายเป็นพิษ และความรุนแรงอยู่หลายชิ้นงานด้วยกัน โดยจากข้อมูลของ ‘The Violence Project’ ที่ศึกษาเรื่องนี้ พบว่าในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมานั้น ผู้ก่อเหตุกราดยิงในอเมริกานั้นเป็นผู้ที่มีเพศกำหนดชายถึง 98%
แรงจูงใจส่วนใหญ่นั้นมีหลายปัจจัย แต่ในเปเปอร์หนึ่งของ ‘Eric Medfis’ รองศาสตราจารย์ด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มหาวิทยาลัย Washington Tacoma ระบุรูปแบบของฆาตกรกราดยิงว่า ส่วนใหญ่พวกเขามักจะถูกปฏิเสธโดยผู้หญิง โดนเมินจากเพื่อนหรือคนรอบตัว หรือเป็นคนที่กำลังตกงานไม่มีงานทำ
ส่วนหนึ่งในงานวิจัยหลากหลายแห่ง ประเด็นวิเคราะห์หนึ่งที่น่าสนใจว่าทำไมผู้ก่อเหตุถึงเป็นผู้ชายมากกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ คือการที่ผู้ชายนั้นแทบไม่มีพื้นที่หรือช่วงเวลาที่จะแสดงออกซึ่งอารมณ์หรือความรู้สึกของพวกเขา จากกรอบความเป็นชายที่ถูกผูกติดตัวพวกเขาไว้โดยสังคม ทำให้เกิดเป็นการอัดอั้นที่ผลักดันให้เกิดการระเบิดอารมณ์จาก 1 ไปยัง 100 อย่างรวดเร็วโดยไร้ซึ่งตรงกลาง
รวมไปถึง เพราะว่าสังคมที่อุดมไปด้วยความเป็นชายที่เป็นพิษได้ให้ ‘สิทธิที่จะโมโห หรือโกรธ และแสดงอารมณ์รุนแรง’ แก่ผู้มีเพศกำหนดชายเหนือกว่าเพศอื่น ๆ เมื่อถูกกระทำให้ไม่พอใจ หรือทำให้ “เสียศักดิ์ศรี” ฯลฯ ซึ่งเป็นการอนุญาตกลาย ๆ ให้เรื่องราวและการกระทำเหล่านี้เกิดขึ้น
ถ้ามองย้อนกลับมาในไทย (ที่ยังมีงานวิจัยเรื่องนี้อยู่น้อยมาก) น่าสนใจว่าลักษณะของความเป็นชายเป็นพิษที่เป็นปัญหานี้ คือรูปแบบนี้นั้นผูกติดลักษณะอาชีพอย่างทหาร หรือตำรวจไว้อย่างชัดเจนกว่าสายอาชีพอื่น ไม่ว่าจะจากการที่อาชีพเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นอาชีพของผู้ชาย เป็นอาชีพที่มีอำนาจ ที่ต้องมีความแข็งกร้าว ทำงานอยู่กับอาวุธยุทโธปกรณ์ การต่อสู้ต่าง ๆ
ไม่นับรวมการฝึกอบรม ที่ขนาดแค่เด็กนักเรียนม.ปลายที่ต้องไปเรียนรด. ยังได้ซึมซาบรับรู้ถึงการฝึกแบบสุดโต่ง นับประสาอะไรกับทหารตำรวจในระบบจริง ๆ ที่ต้องเผชิญกับการกล่อมประสาท การปลูกฝังความชาตินิยมแบบสุดโต่ง การสร้างมายาคติความเข้มแข็ง และความทระนงในศักดิ์ศรี ความมาดแมนแบบบิด ๆ เบี้ยว ๆ ระบบอุปถัมภ์พวกพ้อง และความฟอนเฟะอีกหลายอย่างที่แฝงซ่อนอยู่ จนในหลายครั้งก็กลายเป็นระบบที่ได้ผลิตคนที่ชินชากับการใช้อำนาจและความรุนแรงออกมาอย่างขัดแย้งกับเป้าหมายหน้าที่อันแท้จริง
เมื่อผู้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงอาวุธเพื่อปกป้องประชาชนคือคนที่อันตรายที่สุด แล้วประชาชนต้องทำอย่างไร?
ต้องมีอีกกี่ชีวิตที่เสียไป เราต้องทนอยู่กับความหวาดกลัวไร้ที่พึ่งนี้ไปอีกนานแค่ไหนกัน?
นี่น่าเป็นคำถามที่หลายคนคงมีอยู่ในใจ ไม่ใช่แค่สำหรับการกราดยิง แต่รวมไปถึงเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมตลอดช่วงปีที่ผ่านมา เราจึงต้องการกดดันให้ระบบราชการทหาร-ตำรวจในไทย ที่ยังมีการปลูกฝังการบูชาความเป็นชาย ความรุนแรงในแบบผิด ๆ ยึดถือระบบอันหละหลวม อีลุ่ยฉุยแฉก รวมไปถึงระบบอำนาจนิยมอันลักลั่น พิธีการนิยม ที่ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ก็ล้วนต้องถูกปฏิรูปหรือกระทั่งปฏิวัติระบบใหม่ทั้งหมดใหม่ให้ถึงรากถึงโคนอย่างเร็วที่สุดเช่นกัน
ขอแสดงความเสียใจแก่ครอบครัวผู้เสียหายทุกคน และขอให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นในประเทศที่ใกล้จะสิ้นหวังนี้เสียที
#กราดยิงหนองบัวลำพู
#ThailandMassacre
Content by PS
Graphic by Napas
อ้างอิง
The Violence Project: https://bit.ly/3SM6IJ4
Mass Shootings: The Result of Toxic Masculinity: https://bit.ly/2NTLHKl
DailyNews: https://bit.ly/3SQZpjC
NBC News: https://nbcnews.to/3VcqXBi
LA Times: https://lat.ms/2MkD1xY
ABC News: https://abcn.ws/3RLjztE
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
- Advertisement -