ดร. ณัชร สยามวาลา – ชีวิตใหม่ที่ได้จากการผ่าตัดยืนยันเพศ และการเคารพตัวตน ในสัปดาห์แห่งการตระหนักรู้ของทรานส์

- Advertisement -

- Advertisement -

“ผ่าตัดแปลงเพศ” เป็นคำอีกหนึ่งคำที่ถูกใช้ในที่ต่าง ๆ อย่างแพร่หลายในโลกยุคปัจจุบัน โดยใช้เพื่อสื่อถึงการผ่าตัดของคนข้ามเพศ เพื่อ “เปลี่ยน” เพศของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงการผ่าตัดของคนข้ามเพศนั้นไม่ได้ไป “เปลี่ยน” เพศ หากแต่เป็นการ “ยืนยัน” เพศสภาพของพวกเขาให้ตรงกับสำนึกทางเพศเท่านั้น เนื่องใน ‘สัปดาห์แห่งการตระหนักถึงคนข้ามเพศ’ (Transgender Awareness Week) เราจึงได้ชวน คุณณัชร สยามวาลา วิทยากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญสติและการพัฒนาจิตใจมาพูดคุยถึง “การผ่าตัด” ที่ได้เปลี่ยนชีวิตของเขา และเหตุผลว่าทำไมเราควรใช้คำว่า “ผ่าตัดยืนยันเพศ” และควรยกเลิกการใช้คำว่า “ผ่าตัดแปลงเพศ” ได้แล้ว

SPECTRUM OF HUMAN: ดร. ณัชร สยามวาลา – “ชีวิตใหม่” ที่การผ่าตัดยืนยันเพศมอบให้ และการเคารพตัวตนของคนข้ามเพศ

“ผมเติบโตมากับคุณแม่เสียส่วนใหญ่เพราะคุณพ่อคุณแม่แยกทางกันตั้งแต่ผมอายุราว 3-4 ขวบครับ คุณแม่เป็นคนดูแลทุกอย่างรวมไปถึงเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แต่จะมีชุดหนึ่ง เป็นชุดที่เหมือนชุดตีกอล์ฟในวันหยุดของคุณพ่อ ยังจำได้ถึงทุกวันนี้ เป็นเสื้อยืดคอกลมสีเขียวอ่อน กางเกงลายสก็อตสีเหลืองสลับน้ำตาล จำแม่นมาก เพราะหยิบขึ้นมาใส่เองตลอด เป็นตัวโปรดครับ”

“มีวันหนึ่ง จะไปหยิบมาใส่ แต่มันหายไปแล้ว จำความรู้สึกตอนนั้นได้ว่าช็อค! หาไม่เจอ ก็พยายามคุ้ย ๆ ๆ เพราะว่าชุดอื่นมันจะมีแต่ชุดกระโปรงสีชมพูทำนองนั้น พอหายังไงก็ไม่เจอก็เลยวิ่งไปถามพี่เลี้ยงว่าชุดนั้นหายไปไหน ร้องไห้เลยตอนนั้นจำได้เพราะรักชุดนั้นมาก เขาบอกว่าคุณแม่ทิ้งไปแล้วเพราะมันขาด มันเป็นชุดเดียวที่เป็นเหมือนพ่อ จำได้เลยว่าตอนนั้นคิดในใจว่าทำไมไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกเราเลยว่าเราชอบแต่งตัวอย่างนี้ เราไม่ชอบตัวอื่นที่อยู่ในตู้”

เสื้อกระโปรง สีชมพู ตุ๊กตา คือสิ่งที่ใครหลาย ๆ ยังมองว่าต้องผูกติดไว้กับความเป็นหญิง และด้วยความที่คุณณัชรเป็นลูกคนแรกของครอบครัว เขาเล่าว่าในช่วงเวลานั้นที่บ้านต่างคาดหวังให้เขาเติบโตมาเป็นผู้หญิงตามครรลองของสังคม โดยการจับคุณณัชรใส่เข้าไปตามกรอบที่ผู้หญิงควรจะเป็น และทำให้เขาอึดอัด ทั้งที่เขานั้นชอบการใส่กางเกง ศิลปะป้องกันตัว การเตะบอล และของเล่นแบบในภาพยนตร์เจมส์บอนด์

คุณณัชรได้รับรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดยืนยันเพศ (Gender Affirmation Surgery) ในช่วงที่เขาได้มีโอกาสไปทำงานอยู่ที่อังกฤษและฝรั่งเศสตอนอายุ 28 ปี เพราะว่าในสมัยนั้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนข้ามเพศหรือทรานส์ในประเทศไทยนั้นยังไม่เปิดกว้าง และถูกบันทึกไว้มากนัก

“ผมเริ่มรับฮอร์โมนจริง ๆ ตอนอายุ 50 ปี ครับ 3-4 เดือนต่อมาก็ผ่า Top Surgery ตอนนั้นก็ข้ามมาอายุ 51 พอดี คือมันมีหลายขั้นตอนครับ” – คุณณัชรเล่าว่ากระบวนการผ่าตัดยืนยันเพศของทรานส์แมนนั้นถือว่าเป็นการเดินทางที่ยาวนานมากและไม่ง่ายเลย เพราะตัวเขาเองก็ใช้เวลาหลายปีทั้งในการเตรียมตัวและผ่าตัด กว่าจะได้อยู่ในร่างที่เป็นตัวเขาจริง ๆ

“ก็พอจะรู้ว่าฮอร์โมนมันจะดึงลักษณะของพ่อแม่เราออกมายังไง ตอนนั้นก็ลุ้นอยู่ทุกวันครับว่าถ้าเป็นลูกชายคนโตของพ่อแม่คู่นี้ หน้าตาจะเป็นอย่างไร และพอเห็นผลที่เกิดขึ้น มันก็รู้สึกเซอไพรส์ ตื่นเต้นดีใจ แฮปปี้ รู้สึกเป็นตัวของตัวเอง ความมั่นใจมันมาเยอะมาก (ลากเสียง) มาพร้อม ๆ กับความสุข ผมรู้สึกว่าตัวตนข้างในของเราได้มีโอกาสออกมาจริง ๆ ในที่สุด — ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าเราจะได้บุคลิกของคุณพ่อซึ่งผมประทับใจครับ ผมรู้สึกว่าเป็นบุคลิกที่อบอุ่นและใจดี ผมเติบโตมากับการที่พ่อให้เกียรติผู้หญิงอย่างเป็นสุภาพบุรุษ พอวันหนึ่งที่เรามีเสียงของพ่อ กล้าแสดงความเป็นตัวเอง สั่งอาหารด้วยเสียงนี้ ก็ทำให้เรารู้สึกมั่นใจขึ้นมากครับ”

“โมเมนต์ที่ผมประทับใจคือเรื่องเสียง ของผมคือไปเข้าคอร์สนั่งสมาธิหลังเพิ่งรับฮอร์โมนได้ไม่นาน มันก็ต้องปิดวาจา ทีนี้เส้นเสียงมันได้พักด้วย แล้วพอได้สวดมนต์ตอนเช้า ซึ่งจะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเพศชายขึ้นสูง คำแรกที่ได้ยินเสียงใหม่ของตัวเองคือตอนสวดมนต์ อะระหังสัมมา นี่แหละตอนนั้นก็สงสัยเสียงใครวะ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า เฮ้ย นั่นเสียงเราเอง แล้วเราทำงานในด้านจิตวิญญาณ มองไปข้างหน้าเห็นพระพุทธเจ้า ผมก็เลยอธิษฐานตั้งใจจะใช้เสียงใหม่ของผมพูดแต่สิ่งดี ๆ และทำให้คนมีความสุข ตอนนั้นรู้สึกเหมือนได้เสียงใหม่เป็นของขวัญน่ะครับ”

การผ่าตัดแปลงเพศ กับ การผ่าตัดยืนยันเพศ ? – ในปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดว่า การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนเพศสภาพของกลุ่มคนข้ามเพศ มักจะถูกเรียกว่า “การผ่าตัดแปลงเพศ” ซึ่งในความเป็นจริงนั้น กลุ่มคนข้ามเพศเราไม่ได้ “แปลง” จากเพศหนึ่งสู่อีกเพศหนึ่ง แต่พวกเขาผ่าตัดเพื่อ “ยืนยัน” ให้เพศสภาพตรงกับสำนึกทางเพศของพวกเขา ซึ่งการใช้คำว่า “การผ่าตัดยืนยันเพศ” นั้นจะเหมาะสมกว่าในกรณีนี้

“คำว่าแปลงเพศมันจะเป็นคำที่ใช้จากคนที่ยังไม่มีความเข้าใจ รวมทั้งหมอบางคนก็ใช้คำว่าแปลงเพศอยู่ เพราะว่าสมัยก่อนเขาก็เรียนมาแบบนั้น จริง ๆ การผ่าตัดยืนยันเพศเป็นคำที่ต่างประเทศใช้มานานแล้ว มันคือกระบวนการที่ให้เกียรติบุคคลนั้นได้มีโอกาสยืนยันในเพศสภาพของตัวเอง ซึ่งมันเป็นคำที่สวยงามมาก เป็นคำที่สะท้อนถึงความเข้าใจ ความเคารพ และ เป็น ความ จริง”

“คำพูดและภาษา มีผลต่อความคิด (Mindset) นะครับ แน่นอนมันส่งผลถึงวิธีคิด ซึ่งส่งผลไปถึงกฎหมายของสังคมนั้น ๆ ในที่สุด คำว่า “แปลงเพศ” ของคนสมัยก่อนที่วิทยาศาสตร์ยังไม่ก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้มันส่งผลถึงจิตใต้สำนึกของคนทุกคนนะครับ รวมทั้งคนข้ามเพศด้วย อาจทำให้เขาไม่ยอมรับตัวเองอยู่ลึก ๆ หรือรู้สึกแย่กับตนเองได้ เพราะว่าคำว่าแปลงคือเปลี่ยนแปลงเนาะ เหมือนเปลี่ยนจากเพศหนึ่งไปสู่อีกเพศหนึ่ง นอกจากนี้คำว่าแปลงสำหรับผมมันรู้สึกว่า ปลอมแปลง ไม่ใช่ของแท้ของจริง คือมันแย่ แล้วสมัยก่อนเพศเขามองว่ามันคือคำว่า ‘Sex’ ที่ผูกติดกับเครื่องเพศ (Genitals) ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดอย่างเดียว หรือมีหน้าอกหรือไม่มี ซึ่งมันไม่ใช่นะครับ สมัยนี้พวกเรารู้อยู่แล้วว่า Sex กับ Gender นี่ต่างกัน แต่แน่นอนก็มีคนบางส่วนอาจจะยังไม่รู้ แม้กระทั่งในกลุ่มคนข้ามเพศ อาจจะเพราะการเข้าไม่ถึงข้อมูลต่าง ๆ หรือความเข้าใจผิดที่มีอยู่”

“ไม่ว่าคนข้ามเพศแต่ละคนเขาจะเข้ากระบวนการผ่าตัดยืนยันเพศหรือเปล่านะ ไม่ว่าตัวตนเขาเป็นยังไงคุณก็ควรที่จะเคารพเขา เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าสู่กระบวนการข้ามเพศได้ อาจจะเพราะสุขภาพไม่ดีรับฮอร์โมนไม่ได้ ไม่มีเงินที่จะเข้ากระบวนการเพราะมันใช้เงินด้วย หรือไม่มีเวลาเพราะต้องทำงานเลี้ยงดูครอบครัว ไม่มีเวลาไม่มีโอกาสไม่มีเงินที่จะได้รับสิ่งเหล่านี้ คนเหล่านี้คุณต้องเคารพเขามากเลยนะ เพราะเขาทำหน้าที่คน ๆ หนึ่งทำมาหากิน และสามารถกล้ายืนหยัดเป็นตัวของตัวเองในสังคมที่บอกว่าเขาไม่ใช่สิ่งที่เขาเป็น ผมเคยพูดกับผู้บริหารวัยเดียวกับผมว่า คุณสมบัติหนึ่งที่ HR ของบริษัทน่ารับคนข้ามเพศที่สมัครงานเข้ามาคือ เขาเหล่านั้นมีความซื่อสัตย์นะ ซื่อสัตย์ต่อตนเอง และมีความกล้าหาญด้วยที่จะยืนหยัดในสิ่งที่ตนเองเป็นแม้การแสดงออกอย่างนั้นอาจทำให้เขา “อยู่ยากขึ้น” ได้ คนที่กล้าที่จะยืนหยัดในสิ่งที่ตนเองเป็นมีภาวะผู้นำนะครับ อย่างน้อย ๆ ในเรื่องการตัดสินใจจะเด็ดเดี่ยวครับ”

ในแง่ของการผ่าตัด คุณณัชรเล่าให้เราฟังว่าต้องใช้การวางแผน เวลา สุขภาพ และเงินไม่น้อย ซึ่งในแง่ของกฎหมาย คุณณัชรก็มองว่าถ้ามีการยืนยันตัวตน อย่างสิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้านาม หรือสิทธิในการผ่าตัดยืนยันเพศในลักษณะประกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันของบริษัทหรือประกันสังคมของรัฐเหมือนต่างประเทศที่ทั้งเจ้าตัวและองค์กรหรือรัฐช่วยกันจ่ายร่วมกัน จะเป็นผลดีต่อคนข้ามเพศ เพราะจะช่วยให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้ตรงกับตัวตนที่อยู่ภายใน

“ผมเชื่อมั่นอยู่อย่างหนึ่งจากทั้งประสบการณ์ส่วนตัวและจากที่ผมเห็นจากคนรอบตัว คือเมื่อบุคคลข้ามเพศได้มีโอกาสใช้ชีวิตได้อย่างตรงกับตัวตนภายในแล้ว พวกเขาจะเปล่งประกาย คือ shine มาก ๆ นี่แหละ และเมื่อเขามีความสุขจากภายในแล้วเขาก็จะยิ่งสามารถเป็นผู้ให้ สามารถ contribute สิ่งที่เขามีไม่ว่าจะความสามารถหรือความสุขให้กับบุคคลรอบข้าง ให้กับสังคมได้อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น มันเป็น win-win situation สำหรับทุกคนในสังคมอย่างแท้จริงนะครับ.

“Gender Identity นี่มันหมายถึงสิ่งที่อยู่ในหัวเรา สิ่งที่อยู่ในใจเรา เจ้าตัวแต่ละคนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของเขาเอง เราควรเคารพเขาในจุดนั้น ไม่ว่าเขาจะผ่านการ Transition มาแล้วหรือไม่ก็ตาม ตัวตนเขาเป็นอย่างไรคุณควรจะต้องเคารพตัวเขา ไม่ว่าเขาจะนิยามหรือไม่นิยามตัวเองเป็นอะไรเลยคุณก็ต้องเคารพเขา สังคมที่มอบความเคารพ ความปรารถนาดีให้แก่กันเป็นสังคมที่มีความสุขมากนะครับ”

#TransgenderAwarenessWeek #TransLivesMatter #ณัชรสยามวาลา #GenderAffirmationSurgery #SPECTRUMOFHUMAN

Content by Alexis to your Mimi
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน

- Advertisement -
SPECTRUM
SPECTRUM
พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน