- Advertisement -
SEX EDUCATION: คุยเรื่องเพศกับคุณหมอ ‘ธนวิศว์’ – นพ.ธนวิศว์ จำเนียรกาล แพทย์ประจำบ้านจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี
‘Gender Dysphoria’ คือ ความทุกข์ใจในเพศสภาพ เป็นความทุกข์ทรมานใจจากการที่มีเพศสภาพไม่ตรงหรือไม่สอดคล้องกับเพศโดยกำเนิดของตน โดยความทุกข์ทรมานใจที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อชีวิต การใช้ชีวิตในสังคม การประกอบอาชีพ หรือว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน รวมทั้งด้านอื่น ๆ ที่สำคัญในชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรัก ความสัมพันธ์ ฯลฯ สรุปโดยรวมคือ ความทุกข์ทรมานใจนี้อาจมีมากจนส่งผลต่อการใช้ชีวิต
ปัจจุบันคือคนที่มีปัญหาในเรื่องของความทุกข์ใจในเพศสภาพในประเทศไทยมีค่อนข้างเยอะ แต่กลับไม่มีตัวเลขหรือการวิจัยที่ออกมาให้เห็นชัดเจนในเชิงประจักษ์ จึงนำมาสู่คนที่มีปัญหาเรื่องความทุกข์ใจ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งทำให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลจะยากมากขึ้นอีก เพราะบุคคลนั้น ๆ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่กำลังทุกข์ใจอยู่คืออะไร ไม่รู้ว่ากำลังเผชิญกับภาวะนี้อยู่
ในปัจจุบัน มีแบบสอบถามสำหรับวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ชาวไทยที่มีความทุกข์ใจในเพศสภาพที่ชื่อว่า ‘Utrecht Gender Dysphoria Scale – Gender Spectrum (UGDS-GS)’ โดยแบบสอบถามนี้ถูกแปลมาจากภาษาอังกฤษ และนำมาปรับใช้ในเข้ากับบริบทของประเทศไทย แต่ก็ยังคงอยู่ในกระบวนการศึกษาความเที่ยงตรงและความน่าเชื่อถือของแบบสอบถามอยู่ เนื่องจากตัวแบบสอบถามต้นฉบับยังไม่ได้มีจุดตัดคะแนนที่ว่าต้องมากกว่ากี่คะแนน ถึงจะนับว่าเป็น ‘Gender Dysphoria’
งานวิจัยนี้ถูกนำมาศึกษาเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะดูว่าจุดตัดคะแนนของไทยคือเท่าไหร่ ถึงควรจะเริ่มสงสัยว่ามีภาวะความทุกข์ใจในเพศสภาพ นี่จึงเป็นแบบประเมินเบื้องต้นหรือเป็นบรรทัดฐาน เพื่อคัดกรองคนไทยที่มีปัญหาความทุกข์ใจในเพศสภาพเพื่อ ให้รู้ว่าเกณฑ์คะแนนถึงแล้วและมีภาวะนี้อยู่ และเพื่อให้เข้ารับการช่วยเหลือทางการแพทย์เมื่อถึงเวลาอันควร
- Advertisement -
‘Gender Dysphoria’ ความทุกข์ใจในเพศสภาพ
“คือความทุกข์ใจในเพศสภาพ เป็นความทุกข์ทรมานใจจากการที่บุคคลมีเพศสภาพไม่ตรงหรือไม่สอดคล้องกับเพศโดยกำเนิดของตน โดยความทุกข์ทรมานใจที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อชีวิต การใช้ชีวิตในสังคม การประกอบอาชีพ หรือว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ด้านอื่นที่สำคัญในชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรัก สังคม การประกอบอาชีพ สรุปโดยรวมคือมันจะต้องทุกข์ทรมานใจมากจนส่งผลต่อการใช้ชีวิต”
“อาการของ Gender Dysphoria หลัก ๆ คือ มีความไม่พอใจในเพศกำเนิดตัวเองเป็นอย่างมาก จะรู้สึกสบายใจโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในบทบาทของอัตลักษณ์ทางเพศที่ต้องการ อาจมีการซ่อนสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงทางกายภาพของเพศแต่กำเนิด หรือแสดงให้เห็นถึงทางกายภาพของเพศตรงข้าม เช่น หน้าอก ขน หนวดเครา”
ความทุกข์ใจในเพศสภาพในวัยเด็ก
“วัยเด็กหมายถึงก่อนวัยเจริญพันธ์ จะเริ่มรู้จักความแตกต่างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงประมาณ 3 ขวบ และประมาณ 5 ขวบจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพศและเริ่มนิ่งมากขึ้น ประมาณ 7 ขวบก็จะทำตัวตามเพศตัวเองที่รู้สึกว่าตัวเองเป็น หลักการสำคัญของวัยเด็กคือเรายังไม่แนะนำในการใช้ฮอร์โมน เนื่องจาก ร่างกายของเด็กยังเจริญเติบโตได้ยังไม่เต็มที่อาจจะไปส่งผลต่อเรื่องของการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นกระดูกหรือว่าการพัฒนาของร่างกาย อาจจะทำให้การเจริญเติบโตของเด็กชะงักไป หลักการสำคัญเราจะช่วยให้เด็กค้นพบ พยายามหาอัตลักษณ์ทางเพศหรือ ‘Gender identity’ ของตนเอง โดยเราจะอาศัยความร่วมมือกับตัวเด็กเอง ครอบครัว โรงเรียน และทีมการรักษา รวมกับอาจจะมีการประเมินโรคร่วมทางจิตเวชหรือว่าโรคทางกายอื่น ๆ ด้วย”
ความทุกข์ใจในเพศสภาพในวัยรุ่น
“วัยรุ่นคือตั้งแต่อายุ 13 ปีขึ้นไป ช่วงการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หรือเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ร่างกายก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร ผู้หญิงก็จะมีการพัฒนาเต้านม ขนต่าง ๆ ผู้ชายก็จะมาการพัฒนาเรื่องของกล้ามเนื้อ และอวัยวะเพศที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น วัยรุ่นจะมีความเครียดกับการพัฒนาของร่างกาย ยิ่งถ้าเป็นวัยรุ่นที่มีความรู้สึกว่าตัวเองมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดด้วยก็จะยิ่งเครียดมาก ก็จะนำมาสู่ปัญหาเรื่องความทุกข์ใจในเพศสภาพได้มากกว่าสเตรท”
“สำหรับวัยนี้ก็จะแนะนำเรื่องของฮอร์โมนได้แล้ว ฮอร์โมนก็จะมีสองประเภทคือเป็นฮอร์โมนที่ใช้ชะลอการเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ กับฮอร์โมนเพศเพศเพื่อเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศแบบถาวรไปเลย ซึ่งคุณหมอจะพิจารณาอีกที่ว่าควรจะใช้แบบไหน สำหรับวัยรุ่นที่ยังไม่ค้นพบอัตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริงจะพิจารณาเป็นเรื่องของการให้ยาชะลอการเข้าสู้วัยเจริญพันธุ์ เพื่อที่เด็กจะได้ไปค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง หรือทางหมออาจจะวินิจฉัยว่ามีภาวะ Gender dysphoria หรือสามารถที่จะให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงลักษณ์ทางเพศแบบถาวรได้หรือเปล่า”
ความทุกข์ใจในเพศสภาพในวัยผู้ใหญ่
“วัยผู้ใหญ่จะเพิ่มเติมจากของวัยรุ่นจะมีทางเลือกในแง่ของการผ่าตัด (Sexual reassignment surgery) คือการผ่าตัดยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศ เริ่มต้นจะต้องมีการประเมินของสภาพจิตใจไม่ต่างจากเด็ก ดูว่าเข้าได้กับการวินิจฉัยเรื่องของ ‘Gender Dysphoria’ หรือความทุกข์ใจในเพศสภาพได้หรือเปล่า และมีการเลือกการรักษาที่เหมาะสม รวมกับอาจจะต้องคุยเรื่องของความพร้อมในการรักษา ในแง่ของใช้ฮอร์โมน หรือว่าการผ่าตัด”
กระบวนการข้ามเพศ (Gender Transition)
“ผู้ที่สามารถผ่าตัดข้ามเพศได้ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (หากต่ำกว่า 18 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองตามกฎหมาย)”
1.“แพทย์ต้องวินิจฉัยก่อนว่าเป็น ‘Gender dysphoria’ หรือมีความทุกข์ใจในเพศสภาพ”
2. “จิตแพทย์ให้ความรู้เรื่องความเข้าใจของภาวะนี้ และในส่วนของการรักษาจะการดำเนินการอย่างไร จะต้องทำอย่างไรบ้าง”
3. “ให้ทดลองใช้ชีวิตแบบเพศใหม่ (Real life experience) เช่น การรัดหน้าอก การใส่เสื้อชั้นในเสริมหน้าอก เป็นต้น อย่างน้อย 12 เดือน ในระหว่างนั้นถ้าใช้ชีวิตแล้วมีปัญหาทางจิตแพทย์ก็จะมีการรักษาทางจิตใจ อาจจะเป็นการทำจิตบำบัด ครอบครัวบำบัดก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัญหาของรายบุคคลแต่ละคนที่เป็น”
4. “ถ้าลองใช้ชีวิตแบบเพศใหม่ แล้วไม่มีปัญหาอะไร ขั้นต่อไปก็จะเป็นใช้ฮอร์โมนก็จะปรึกษาแพทย์ต่อมไร้ท่อ ถ้าเป็นเด็กก็จะเป็นกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ ส่วนจิตแพทย์ก็จะมีการตรวจสอบสภาพจิตใจเป็นระยะ ๆ ทุก ๆ กระบวนการให้ฮอร์โมนมีปัญหาหรือไม่ หงุดหงิดมากขึ้นหรือเปล่า หรือว่ามีปัญหาเรื่องของอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง หรือมีปัญหาโรคจิตเวชอื่น ๆ จิตแพทย์ก็จะรักษาเป็นช่วง ๆ ไปจนกระทั่งให้ฮอร์โมนเสร็จ”
5. “เรื่องของความพร้อมในการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทุนทรัพย์ หรือความพร้อมทางร่างกาย จะเป็นการประเมินความพร้อมในการผ่าตัดโดยแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ถ้าพร้อมแล้วเราจะมีการส่งพบจิตแพทย์คนที่สองเพื่อวินิจฉัยโรคทางจิตเวช และออกใบความเห็นว่าเห็นชอบไม่มีข้อห้ามที่จะนำไปสู่การผ่าตัด เนื่องจากการที่จะยินยอมผ่าตัดยืนยันเพศจำเป็นต้องใช้จิตแพทย์ 2 คนพิจารณาร่วมกัน”
6. “ผ่าตัดยืนยันอันตลักษณ์ทางเพศ ในบางโรงพยาบาลอาจจะเป็นคุณหมอศัลยกรรมพลาสติก หรือบางคนอาจจะต้องใช้คุณหมอสูตินารีแพทย์ด้วย คุณหมอจะพิจารณาว่าต้องผ่าตัดอย่างไรบ้าง ในส่วนของหลังจากการผ่าตัดจิตแพทย์ก็จะมีการนัดติดตามอาการ ดูสภาพจิตใจ ดูการปรับตัว เพราะหลายคนหลังจากการผ่าตัดไปแล้วมีภาวะเรื่องของการปรับตัวไม่ได้ หรือมีปัญหาในการปรับตัว อาจจะมีการพูดคุยกับจิตแพทย์ ทำจิตบำบัด หรือมีการประเมินภาวะทางจิตเวชที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการรักษา โดยปกติทั่วไปแล้วหลังจากผ่าตัดแปลงเพศจิตแพทย์ก็จะติดตามอาการอย่างน้อยประมาณหนึ่งปี และประเมินเป็นราย ๆ ไป ถ้าอาการไม่ได้มีปัญหาอะไรที่จะต้องติดตามอาการต่อก็จะหยุดติดตามอาการในแง่ของสภาพจิตใจ”
สามารถทำแบบประเมินได้ที่: https://forms.gle/zxbRqH4pBxDgRG5F7
[*หมายเหตุ: นี่เป็นแบบประเมินที่ยังไม่มีผลวิจัยสำหรับคนไทย ใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บข้อมูลต่อยอดหาจุดตัดคะแนนของคนไทย โดยข้อมูลที่ตอบในแบบสอบถามจะสามารถระบุตัวผู้ตอบได้ แค่เพื่อใช้ในการสุ่มสัมภาษณ์ ข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับ โดยจะมีการรายงานเพียงผลเป็นภาพรวมเท่านั้น ไม่มีรายงานผลที่ระบุเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล]
#GenderDysphoria
#คุยเรื่องเพศกับคุณหมอ
#SexEducationBySpectrum
Content & Graphic by Napaschon Boontham
อ่านข่าวเรื่องเพศอื่นๆ : https://bit.ly/38MAJn4
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
- Advertisement -