SEX EDUCATION: คุยเรื่องเพศกับคุณหมอ ‘แอม’ – พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาสมอง และการเรียนรู้ เจ้าของเพจ เรื่องเด็กๆ by หมอแอม ที่ให้ข้อมูลสุขภาพ และจิตวิทยาการเลี้ยงเด็ก ที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์
Hidden Disabilities หรือ Non-visible Disabilities คือ ความพิการทางร่างกาย และ/หรือทางสมอง ที่ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ เช่น ความพิการทางสติปัญญา ความพิการทางการเรียนรู้ ออทิสซึ่ม สมาธิสั้น หรือโรคจิตเวชอื่น ๆ หลาย ๆ คนอาจมองว่าเป็นคนไร้ศักยภาพ ไม่มีความพยายาม ไม่เก่ง ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่สามารถเรียนรู้ได้ ไม่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ หรือต่อต้านสังคม จึงอาจนำไปสู่การด่วนสรุปหรือตัดสินทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องเจอกับความเจ็บปวดซ้ำซ้อนทั้งในสิ่งที่เป็นอยู่และจากคนรอบข้าง
การขาดความเข้าใจในเรื่องนี้จะเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีความพิการได้ อาจทำให้บางคนสูญเสียการเข้าสังคม การติดต่อกับเพื่อนหรือครอบครัว ซึ่งอาจนำไปสู่การเห็นคุณค่าในตนเองลดลง นี่คือความรู้เกี่ยวกับ “Hidden Disabilities” ความรู้ดี ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักว่าบุคคลกลุ่มนี้ก็คือคน ๆ หนึ่งที่ต้องการยอมรับจากสังคม
ความพิการทางสติปัญญา (ID: Intellectual Disabilities)
“คือบุคคลที่มีระดับเชาว์ปัญญา หรือ IQ ตํ่ากว่า 70 มีความพิการทางสมองในเรื่องของการรู้คิด ความเข้าใจ และสติปัญญา ซึ่งอาจเกิดจากโรคหรือความผิดปกติในการพัฒนาของสมอง ทำให้พัฒนาการในเกือบทุก ๆ ด้าน ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน”
“ในเรื่องของการดูแลเด็กกลุ่มนี้ ต้องเริ่มจากว่า มีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน หากรุนแรงมาก ต้องมีคนช่วยเหลือตลอด แต่หากมีความรุนแรงน้อย หรือบางครั้งเป็นคนที่อยู่ในสังคมโดยทั่วไป แต่ไม่ได้รับโอกาสในการวินิจฉัยและดูแลภาวะนี้ อาจทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นคนที่ไร้ศักยภาพ และกลายเป็นปัญหาสังคมตามมาได้”
“สิ่งที่อยากเน้น คือจริง ๆ แล้ว เด็กกลุ่มนี้ ถึงจะพัฒนาช้า แต่สามารถพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ได้ เราต้องไม่เปรียบเทียบเขากับคนอื่น ผู้ดูแลต้องหมั่นกระตุ้นพัฒนาการ และอย่าลืมให้กำลังใจ ให้ความรัก เหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป เพราะถึงแม้เหมือนเขาจะไม่รู้เรื่องมากนัก แต่เด็กทุกคนก็ต้องการความรักและกำลังใจจากผู้เลี้ยงดูไม่แตกต่างกัน”
“ปัญญาอ่อน / โง่ / หัวทึบ / ไอ้พิการ” เป็นคำที่ไม่ควรพูด พอ ๆ กับคำว่า “ทำไมเด็กคนอื่นยังทำได้เลย” คำเหล่านี้ล้วนบั่นทอนจิตใจเด็ก รวมถึงบั่นทอนจิตใจของคนพูดด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ถ้าพ่อแม่มีลูกหลายคน ต้องสอนให้พี่น้องเข้าใจในบริบทของเด็กที่เป็น ID เนื่องจากบางครอบครัว พี่น้องที่พัฒนาการตามวัยอาจรู้สึกว่าแม่ดูแลแต่อีกคน ทำไมไม่ดูแลเราบ้าง ต้องปรับความเข้าใจว่า พี่/น้องเขาทำเองไม่ได้ ต้องการความช่วยเหลือจากเรา เน้นให้พี่น้องมีส่วนร่วมในการดูแลเด็กที่เป็น ID ร่วมด้วย เพื่อเสริมสร้างให้เขารักและผูกพัน ช่วยเหลือกันจริง ๆ ไม่ใช่แค่แม่สั่ง”
“สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่ง คือการดูแลจิตใจของผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลเด็ก หลายคนละเลย และไม่ให้ความสำคัญ แต่ผู้ดูแลเด็กเหล่านี้มักมีความเครียด มีปัญหาจิตใจ ตลอดจนภาวะซึมเศร้า ทั้งจากตัวของเด็ก และจากเศรษฐานะ ที่อาจกระทบจากการต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลเด็ก หลายคนถึงขั้นมีอาการจิตเวช ดังนั้นผู้ดูแลตัวเองต้องอย่าลืมดูแลตัวเอง และหมั่นตรวจเช็กสภาพจิตใจของตนเอง รวมถึงตั้งเป้าหมาย และความคาดหวังต่อตัวเด็กให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่เปรียบเทียบลูกเรากับคนอื่น อาจต้องทำหูทวนลมบ้าง คนในสังคมที่ไม่เข้าใจผู้อื่นยังมีอีกเยอะ แต่คนที่เข้าใจและพร้อมช่วยเหลือก็ยังมีอีกเยอะเช่นกัน เลือกโฟกัส และก้าวผ่านให้เป็น”
ความพิการทางการเรียนรู้ (SLD: Specific Learning Disorder)
“ในเด็กบางคน สติปัญญาปกติ แต่ไม่สามารถเรียนรู้บางอย่างได้ เช่น อ่านหนังสือไม่เก่ง เขียนหนังสือกลับด้าน หรือคิดเลขไม่ได้ ”
“ซึ่งภาวะนี้มักได้รับการแจ้งจากคุณครูที่โรงเรียนของเด็กว่า เด็กเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก คิดเลขผิดอยู่ประจำ อาจส่งผลกับผลการเรียน สอบตก ซ้ำชั้น นำมาซึ่งปัญหาเรื่องของ ‘Self esteem’ หรือการเห็นคุณค่าในตัวเอง ของเด็กได้ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว เขาแค่เรียนไม่เก่ง เพราะ “ไม่ถนัดเรียน” แต่เขาอาจเก่งในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ ฯลฯ ซึ่งหากพ่อแม่หรือผู้ดูแลไม่เข้าใจจุดนี้ และตีค่าสติปัญญาของเด็กจากผลการสอบ อาจทำให้เด็กขาดโอกาสในการค้นพบความสามารถอื่น ๆ ของตนเอง … แล้วเด็กจะหาหนทางประสบความสำเร็จในชีวิตได้ยังไง?”
“ในเรื่องของการดูแลกลุ่มนี้ เน้นที่ความเข้าใจและทัศนคติของผู้ดูแล ซ่อมในด้านที่ลูกไม่เก่ง แต่ไม่กดดัน เน้นการส่งเสริม ให้กำลังใจ และให้โอกาสลูกฝึกฝนในจุดที่เขาบกพร่อง โดยอาจอาศัยผู้เชี่ยวชาญและนักบำบัดให้การช่วยเหลือได้ นอกจากนี้ควรหาความสามารถ หรือความสนใจในด้านอื่น ๆ ของลูกด้วย เพื่อกู้ self esteem ของลูก ให้เขารู้ว่า เขามีดี และได้ดีได้ แค่พยายามให้เป็น”
“สำหรับคุณครู หรือผู้มีบทบาทในการประเมินเด็ก ก็ต้องเข้าใจ และปรับวิธีการประเมิน ให้สอดคล้องกับทักษะของเด็ก เช่น หากเด็กเรียนเก่ง รู้เรื่อง แต่อ่านหนังสือไม่ออก อาจสอบตกทั้งที่เขาเข้าใจในเนื้อหาบทเรียน บริบทเช่นนี้ครูอาจกำหนดวิธีการประเมินเพื่อดึงศักยภาพจริงของเด็กออกมา เช่น การอ่านข้อสอบให้เด็กตอบ หรือปรับเป็นการถามตอบแทน”
ออทิสติก (ASD: Autistic Spectrum Disorder)
บุคคลที่มีปัญหาด้าน พัฒนาการ พฤติกรรม และการเข้าสังคม โดยแบ่งเป็น 2 แบบได้แก่
ออทิสติก ที่มีมาจากความผิดปกติทางสมองโดยตรง มักมีอาการตั้งแต่เด็ก เช่น พูดช้า ไม่สบตาผู้เลี้ยงดู ไม่หันตามเสียงเรียก ไม่ยิ้มเล่น สื่อสารไม่ค่อยได้ ออทิสติกเทียม กลุ่มนี้ ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางสมอง แต่เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น การให้ดูหน้าจอมากเกินไป จนส่งผลกับพัฒนาการของเด็ก
“ส่วนใหญ่บุคคลออทิสติกจะมีปัญหาด้านการสื่อสาร และเซลล์ประสาทกระจกเงา ทำให้ไม่มองหน้า ไม่สบตาคน ไม่เข้าใจสีหน้าอารมณ์ของคนอื่น เข้าสังคมไม่เป็น คุยกับเพื่อนไม่เข้าใจเพราะพูดแต่เรื่องที่ตัวเองสนใจ และมักมีพฤติกรรรมที่คนรอบข้างบางคนอาจไม่ยอมรับ เช่น กัดผู้อื่น ถุยน้ำลาย เป็นต้น ดังนั้นการดูแลเด็กกลุ่มนี้จึงเน้นที่การฝึกสื่อสาร ร่วมกับการปรับพฤติกรรม เช่น ฝึกการเข้าสังคม ฝึกการมองหน้า สบตา ฝึกฟัง ฝึกพูด และฝึกระบบประสาทสัมผัส เช่น การทรงตัว การเดิน บำบัดเรื่องกล้ามเนื้อ ที่สำคัญคือฝึกให้เขาสามารถช่วยเหลือและดูแลตัวเองได้ กินข้าว ขับถ่าย อาบน้ำ แต่งตัว”
“หลายคนที่ยังไม่รู้จัก ยังไม่เข้าใจ และยอมรับในเด็กออทิสติก มักจะมองว่า เป็นเด็กที่มีปัญหา มองว่าเป็นภาระ มองพวกเขาเป็นคนที่แตกต่างจากเรา การยอมรับจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในเด็กกลุ่มนี้ หมอเคยเจอเด็กหลายคนที่พ่อแม่ไม่ยอมรับ ซึ่งทำให้เด็กพลาดโอกาสในการสร้างพัฒนาการตามวัย เพราะปัญหาเรื่องพัฒนาการถ้าเรายิ่งรู้เร็ว เด็กก็ได้รับการพัฒนาศักยภาพตามวัยได้เร็ว (Early intervention) ผลลัพธ์จะยิ่งดี และทำให้ลูกสามารถมีศักยภาพที่เต็มที่ของตัวเขามากที่สุดได้”
“ถ้าพ่อแม่ไม่ยอมรับและไม่พามาปรึกษาคุณหมอ มาอีกทีคืออาการอาจหนัก ก้าวร้าว ไม่สบตา บางคน 7 ขวบแล้วยังไม่พูดสักคำ สื่อสารไม่เป็น นั่งถุยน้ำลายใส่คนอื่น รวมถึงเด็กพลาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพจริง ๆ ของตัวเองด้วย เพราะจริง ๆ แล้วเด็กออทิสติกหลายคนอาจมีปัญหาแค่เรื่องทักษะสังคมและพฤติกรรม แต่สติปัญญาดีก็มีเยอะ หลายคนมีการศึกษาสูง ๆ เพราะพ่อแม่รู้ เข้าใจ และมาปรึกษาคุณหมอตั้งแต่เด็ก ทำให้ลูกมีพัฒนาการไม่ช้ามาก เข้าสังคมได้ ก็จะช่วยให้เขามีอนาคตที่ดี และมีหน้าที่การงาน ประสบความสำเร็จในชีวิตตามแบบฉบับของเขาได้”
สมาธิสั้น (ADHD: Attention Deficit Hyperactivity Disorder)
“เด็กในกลุ่มสมาธิสั้น คือเด็กที่มีปัญหาเรื่องในควบคุมตนเอง ให้มีสมาธิ ให้มีความสนใจจดจ่อในสิ่งที่ทำได้ ซึ่งหลายคนมักมีความเข้าใจผิด ๆ ไม่ตรงกับความจริงของโรคนี้” เช่น
■ “เด็กสมาธิสั้น = เรียนไม่เก่ง สติปัญญาไม่ดี: จริง ๆ แล้วโรคสมาธิสั้นไม่มีผลกับเรื่องสติปัญญา เด็กหลายคนฉลาด แต่เนื่องจากขาดสมาธิ ทำงานไม่เสร็จ หรือทำข้อสอบแป๊บเดียวก็เบื่อ ทำให้ผลการเรียนไม่ดี ทั้งที่จริง ๆ ฉลาด”
■ “เด็กสมาธิสั้น = ซน: จริง ๆ แล้ว สมาธิสั้น มีทั้งแบบซน อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น แบบที่หลายคนเข้าใจ กับอีกแบบคือสมาธิสั้นแบบเหม่อ คือนั่ง ๆ อยู่แล้วเหม่อ สมาธิหลุดลอย ไม่ได้ฟังที่ครูสอน ซึ่งแบบหลังนี้หลายคนไม่รู้ ไม่เข้าใจ และคิดว่าลูกขี้ลืม ถามอะไรตอบไม่ได้ (เพราะสมาธิหลุด ไม่ได้ยินที่ครูสั่งงาน) หรือคิดว่าลูกปัญญาไม่ดี เรียนไม่เก่ง ฟังครูสอนไม่เข้าใจ ซึ่งกลุ่มนี้น่าเสียดายมาก เพราะถ้าแค่รักษา กินยา ก็อาจทำให้เด็กสามารถกลับมาเรียนรู้ได้เหมือนเด็กปกติได้”
“สมาธิสั้นมักพบบ่อยในช่วง 3-7 ปี เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องเข้าระบบการศึกษา เด็กที่มีอาการเหมือนสมาธิสั้นมีทั้งเด็กที่เป็นสมาธิสั้นจริง ๆ จากสารสื่อประสาทในสมองของเขาเอง หรือเด็กบางคนเกิดจากการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ให้ดูหน้าจอมากเกินไป ทำให้เด็กเหมือนเป็นสมาธิสั้น อยู่นิ่งไม่เป็น ส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ ด้านตามมาได้ ดังนั้นสิ่งที่อยากเน้นความเข้าใจของผู้ดูแลคือ การดูหน้าจอ ไม่ใช่การสอนเด็กที่ดี แต่การสอนที่ดีคือ ตัวพ่อแม่เอง รวมถึงการให้เด็กอยู่กับธรรมชาติมาก ๆ จะเสริมสร้างสติปัญญา การเรียนรู้ และความฉลาดของเด็ก ได้ดีกว่าการให้นั่งแช่ดูหน้าจอนาน ๆ”
“นอกจากการลดเวลาหน้าจอให้เหมาะสมแล้ว การเล่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของลูก และการเล่นที่ช่วยฝึกให้ลูกมีสมาธิดี คือการหัดเล่นทีละอย่าง ดีกว่าการเอาของเล่นมากมายมากองไว้ตรงหน้า ยิ่งของเล่นเยอะ เด็กจะยิ่งเบื่อง่าย แต่ยิ่งของเล่นน้อย เด็กจะต้องเคาะ แคะ แงะ ดู ช่วยให้ลูกหัดเรียนรู้ทีละอย่าง เพิ่มความคิดสร้างสรรค์พลิกแพลงจากของเล่นเดิม ๆ หรือการเล่นที่ต้องเล่นให้เสร็จทีละอย่าง เช่น การต่อจิ๊กซอว์ เกมการ์ด เกมกระดาน ก็ช่วยให้ลูกเรียนรู้การมีสมาธิ ความสนใจจดจ่อ เรียนรู้การทำให้เสร็จ ก่อนไปเล่น หรือไปทำอย่างอื่นได้ดี”
“หรือสอนลูกผ่านชีวิตประจำวัน เช่น กินข้าวให้เสร็จค่อยไปเล่น ไม่ใช่กินไปดูแท็บเล็ตไป ซึ่งเรื่องเหล่านี้ควรฝึกตั้งแต่ยังเล็ก ๆ จะช่วยให้เด็กยิ่งเรียนรู้ง่าย ฝึกง่าย มีระเบียบวินัย มีความคิดเป็นขั้นเป็นตอน และมีพัฒนาการตามวัยที่ดีได้”
“เรื่องพัฒนาการตามวัย เป็นสิ่งที่ควรตระหนัก”
“สิ่งที่อยากฝากคุณพ่อคุณแม่ และผู้ดูแลเด็กทุกท่าน คือ เรื่องพัฒนาการตามวัย เป็นสิ่งที่ควรตระหนัก และคอยตรวจเช็กลูกให้ดี มีความเชื่อหลายอย่างที่อาจทำให้เด็กพลาดการวินิจฉัยและเข้าพบแพทย์ในทางที่ควรได้ เช่น ความเชื่อเรื่องเด็กพูดช้า คือหมอมักได้ยินคำพูดว่า “พูดเร็วพูดช้าไม่เห็นเป็นไร เดี๋ยวโตขึ้นก็พูดไม่หยุดเอง” แต่ความจริงแล้วการพูดช้านี้กุมารแพทย์หรือนักจิตวิทยาหลายคนให้ความสนใจ เพราะการพูดช้าอาจจะเป็นสัญญาณเตือนอันแรกความผิดปกติของสมอง”
“หลาย ๆ อาการมันอาจจะเริ่มจากการแค่ลูกพูดช้า ไม่ตอบสนองต่อพ่อแม่ เช่น ความพิการทางสติปัญญา รวมถึงการผิดปกติทางระบบประสาทอื่น ๆ เช่น หูหนวกไม่ได้ยินเสียงก็พูดช้าได้เหมือนกัน จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมต้องเน้นเรื่องของพูดช้าให้ไปพบแพทย์”
“รวมถึงเด็กที่พูดเร็วก็มีงานวิจัยออกมามากมายว่ามีผลกับเรื่องความฉลาดของเด็กด้วยเช่นกัน คือ เด็กยิ่งพูดเร็วแล้วเราส่งเสริมให้เขา คิด พูด ทำ เด็กก็จะยิ่งมีความฉลาดในวิชาชีวิต คือ คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็นได้เร็วกว่าเด็กคนอื่นทั่วไป และจะมีโอกาสชีวิตมากกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน”
“เด็กพิการเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปได้ไหม?”
“คำถามที่หมอมักเจอบ่อยอีกคำถาม อันนี้ต้องมองในหลายมิติด้วยกัน ถ้าเด็กที่มีความพิการมาก อันนี้คงต้องมีผู้ดูแลช่วยเหลือตลอดเวลาอยู่แล้ว การเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปอาจเป็นไปได้ยาก แต่ในกรณีของเด็กที่มีความบกพร่องไม่มาก เช่น ID แบบไม่รุนแรง Autistic แบบสติปัญญาปกติ เด็กที่เป็นสมาธิสั้นหรือเด็กพิการการเรียนรู้ (SLD) หากเด็กมีความพร้อม ควรให้มีโอกาสได้เรียนหรือใช้ชีวิตร่วมกับเด็กทั่วไป”
“การแยกเด็กกลุ่มนี้ออกมา อาจทำให้เด็กขาดโอกาสในการฝึกเข้าสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะหลักที่เด็กหลายคนในกลุ่มเหล่านี้มีปัญหา และการให้เขาเรียนรู้อยู่กับผู้อื่น การเข้าสังคม การสื่อสาร การรอคอย ก็เป็นหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพ หรือเป็นวิธีช่วยให้เด็กเหล่านี้มีพัฒนาการ และสามารถใช้ชีวิตร่วมได้กับคนในสังคมได้”
“ในทางกลับกัน พ่อแม่ของเด็กทั่วไป มักมีปัญหากับกลุ่มนี้แทน ทั้งเรื่องของการรังเกียจ กลัวลูกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กกลุ่มนี้ ตลอดจนนำมาสู่ปัญหาเรื่องการล้อเลียนและบูลลี่เด็ก ในสังคมที่ขาดความเข้าใจได้ แต่จริง ๆ แล้วการที่มีเด็กพิการมาเรียนร่วมกับลูกของเรา กลับเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะสอนลูกในเรื่องของความหลากหลายได้ จึงถือเป็นการพัฒนาความสามารถของเขาในการรู้ เข้าใจ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เก่งขึ้นไปอีก นำมาสู่ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น และปรับตัวเข้ากับโลกในวันหน้าที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลง”
“ยิ่งเราส่งเสริมการยอมรับและเข้าใจความหลายหลายของสังคมในวันนี้ได้มากเท่าไร ลูกของเราจะยิ่งปรับตัวเก่ง และใช้ชีวิตได้เก่งมากขึ้นเท่านั้น”
“LGBTQ+ ไม่ใช่ความผิดปกติ”
“คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะเข้าใจ ว่าเด็กที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดเป็นสิ่งผิดปกติ อยากให้คุณพ่อคุณแม่ รวมถึงผู้ดูแลเด็กทุกคน ปรับมุมมองใหม่และเข้าใจว่า LGBTQ+ ไม่ใช่ความผิดปกติ เป็นแค่ความชอบ เป็นแค่รสนิยม ซึ่งคนเราทุกคนมีสิทธิ์ในการเลือกความชอบ และรสนิยมของตัวเอง เด็กผู้หญิงไม่จำเป็นต้องชอบสีชมพู เด็กผู้ชายไม่จำเป็นต้องชอบสีฟ้า… เช่นเดียวกัน ผู้หญิงก็ไม่จำเป็นต้องชอบผู้ชาย และผู้ชายก็ไม่จำเป็นต้องชอบผู้หญิงเสมอไป ควรให้เขาได้ค้นพบ “เพศที่เหมาะกับเขา” มากกว่าสิ่งที่สังคมยัดเยียดให้”
“นอกจากนี้ อยากให้มองว่า ทุกคนมีศักยภาพเหมือนกัน มากน้อยขึ้นกับบริบท แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราไม่ไปจำกัดศักยภาพของคน ๆ หนึ่งจากแค่คำว่า LGBTQ+ มองข้ามรสนิยมความชอบไป แล้วมองแค่ที่ตัวตนของเขา”
สามารถติดตามความรู้จากคุณหมอแอมได้ที่
Facebook: https://bit.ly/3hSPeeh
Youtube: https://bit.ly/36KAx6n
Instagram: https://bit.ly/3rmYwSJ