- Advertisement -
SEX EDUCATION: คุยเรื่องเพศกับคุณหมอ ‘เค’ – ผศ. นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
Gen V clinic เป็นคลินิกดูแลเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศของโรงพยาบาลรามาธิบดี ให้คำปรึกษาผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และผู้ปกครองที่มีลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีการให้คำแนะนำในการปรับตัว รวมถึงประเมินก่อนผ่าตัดสำหรับคนที่ต้องการยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศ
จิตแพทย์มีบทบาทในการให้คำปรึกษาผู้ปกครองในเรื่องการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจลูกที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด และกลุ่มวัยรุ่นที่เริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นเพศอะไร เริ่มมีความสนใจในเพศเดียวกัน และบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพจิตร่วมด้วย รวมถึงวินิจฉัย ประเมินความเสี่ยงในการผ่าตัดข้ามเพศ
กระบวนการพูดคุยเป็นเครื่องมือที่สำคัญอีกอย่างสำหรับจิตแพทย์เพื่อช่วยให้ผู้เข้ารับการปรึกษาทำความเข้าใจถึงตัวตน ปัญหาและที่มา ซึ่งจะช่วยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามหนทางที่ต้องการ นี่จึงเป็นคำแนะนำดี ๆ เรื่อง ‘สุขภาพจิต’ และ ‘ความหลากหลายทางเพศ’ โดยคุณหมอ ‘เค’ มาให้ความรู้ที่อ่านได้ทุกเพศทุกวัน เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจ และยอมรับในความหลากหลาย
LGBTQ+ ที่ไม่ได้รับการยอมรับนั้นเสี่ยงภาวะซึมเศร้า
“ภาวะซึมเศร้า เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้มากกว่าสเตรทประมาณ 2 – 5 เท่าขึ้นไป โดยส่วนใหญ่เกิดจากขาดการยอมรับจากบุคคลในครอบครัวและอาจรวมถึงมีการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม หรืออาจมีปัญหาในการใช้วิต เช่น การเรียน การทำงาน การเข้าสังคม เพราะฉะนั้นการยอมรับของครอบครัวจึงสำคัญมากในกลุ่มของ LGBTQ+”
“โรคซึมเศร้าจะมีเกณฑ์วินิจฉัยคือ มีอาการเบื่อ เศร้า ไม่มีความสุขที่เป็นอยู่ต่อเนื่องแทบทั้งวัน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป อาจมีอาการดังต่อไปนี้ 5 ใน 9 ข้อ รู้สึกเบื่อ เศร้า ไม่สนใจที่จะทำกิจกรรมที่เคยชอบ สมาธิ ความจำ แย่ลง รู้สึกเบื่ออาหาร หรือบางคนอาจจะกินเยอะ กินจุมากขึ้น อาจจะนอนหลับยากขึ้น หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือบางคนนอนมากขึ้น ง่วง เหนื่อย เพลีย ทั้งวัน อาจจะโทษตำหนิตัวเองบ่อย ๆ ทำอะไรเชื่องช้า ทำร้ายตัวเอง หรือจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย”
“การให้คำปรึกษาจะสอบถามข้อมูลทั่วไปเพื่อทำความรู้จักสร้างความเข้าใจผู้เข้ารับคำปรึกษา และประเมินสิ่งที่เขาต้องการเข้ามาปรึกษาวันนี้ เช่น บางคนไม่ได้ถูกยอมรับจากครอบครัว ถูกต่อว่า ตำหนิ บูลลี่ ทารุณกรรม วัยเรียนโดนล้อ โดนแกล้ง ประเมินสิ่งที่กระทบที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ปัญหาในปัจจุบันยังมีอยู่ไหม อาจจะเป็นเรื่องของการทำงานที่ไม่ถูกยอมรับ เจ้านายกลั่นแกล้งรังแก เหยียดเพศ รวมถึงปัญหาสุขภาพจิต และวางแผนเรื่องของการดูแลรักษาเป็นขั้นตอนต่อไป”
“LGBTQ+ บางคนอาจมีภาวะ ‘Gender Dysphoria’ หรือ ความทุกข์ใจในเพศสภาพ คือภาวะที่รู้สึกไม่สอดคล้องระหว่างเพศกำเนิดและเพศสภาพที่ตนรับรู้ และทำให้รู้สึกทุกข์ใจเป็นอย่างมากหรือประสบปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน จิตแพทย์ก็จะวินิจฉัย และส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อในการดูแลการใช้ยาเพื่อยับยั้งการผลิตฮอร์โมนทางเพศ หรือการรับฮอร์โมนข้ามเพศ และวางแผนการผ่าตัดเป็นขั้นตอนต่อไป”
LGBTQ+ ไม่ต้องกดดันตัวเองให้เก่ง เพื่อให้เกิดการยอมรับ
“ผู้ปกครองบางคนคิดว่าเป็นการสูญเสียลูกที่เขาคาดหวัง ตอนที่ลูกเกิดมามีอวัยวะเพศชาย ต้องเป็นผู้ชาย มีอวัยวะเพศหญิง ต้องเป็นผู้หญิง แต่เขากลับมีเพศสภาพไม่ตรงอย่างที่พ่อแม่คาดหวัง LGBTQ+ จึงมักจะถูกคาดหวังจากครอบครัว คนรอบข้าง ว่าต้องเป็นคนดี ต้องเป็นคนเก่ง ต้องประสบความสำเร็จ จึงจะถูกการยอมรับ”
“อย่างไรก็ตามการสร้างการยอมรับโดยพยายามค้นหาความสามารถหรือทักษะ ก็เป็นแรงผลักดันที่ดี แต่ที่แน่ ๆ ไม่ต้องกดดันหรือผลักดันจนมีผลกระทบต่อจิตใจตัวเอง กลับมาดูแลจิตใจเมื่อมีความเครียด ยอมรับตัวเองในอย่างที่ตนเองเป็น ส่วนคนรอบข้าง พ่อแม่ ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า LGBTQ+ ก็เป็นคนปกติทั่วไป ไม่ต้องกดดันให้เขาต้องเก่งที่สุด ต้องชนะตลอดเวลา ต้องประสบความสำเร็จทุกเรื่อง เพื่อมาทดแทนในสิ่งที่คิดว่าเขาผิดที่เกิดมาไม่ตรงเพศ เพราะการที่เขาเป็นตัวของตัวเองไม่ใช่สิ่งที่ผิด”
ลูกเป็น LGBTQ+ ผู้ปกครองไม่ได้เลี้ยงดูผิด
“หลาย ๆ คนก็ยังมีความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศหลากหลายว่าเป็นโรค เป็นสิ่งผิดปกติ แต่จริง ๆ แล้วเป็นความหลากหลายที่พบเจอได้ทั่ว ๆ ไปในสังคม เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ มุ่งมั่นที่อยากจะเป็น แกล้งที่อยากจะเป็น เป็นตามเพื่อน แต่ว่าพวกเขากำเนิดมาโดยลักษณะนี้ของเขา”
“ในบางครอบครัวพ่อแม่อาจจะรู้สึกว่าเลี้ยงลูกไม่ดี ไม่มีเวลาให้มากพอหรือเปล่า เพราะพ่อหรือแม่บางคนต้องออกไปทำงาน หรือทำงานไกลบ้าน ความรู้สึกผิด ความเข้าใจผิดตรงนี้ก็ทำให้ผู้ปกครองรู้สึกแย่ รู้สึกไม่ดี อาจจะโทษหรือตำหนิตัวเองว่าลูกที่มีความหลากหลายเพราะการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม แต่การไม่ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นต่างหากอาจนำมาซึ่งปัญหาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม”
“ผู้ปกครองซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงดูลูก และเป็นผู้ที่ช่วยเหลือให้ลูกเติบโตอย่างมีความสุขได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ครอบครัวเข้าใจ ยอมรับ พร้อมสนับสนุนในสิ่งที่เขาเป็น และคอยช่วยเหลือให้กำลังใจ เวลาที่เขาต้องไปเผชิญปัญหาต่าง ๆ ที่โรงเรียน ถูกกลั่นแกล้ง รังแก เหยียดเพศ การปรับตัวกับเพื่อน กับคุณครู การเข้าสังคม ผู้ปกครองจะมีบทบาทช่วยเหลือตรงนี้ได้อย่างมาก และช่วยให้เขาสามารถใช้ชีวิตในแบบของตัวเองได้อย่างดีในแบบที่เขาเป็น”
Come Out เมื่อเราพร้อม
“เรื่องของการคัมเอาท์มันไม่ได้เป็นกระบวนการทันทีทันใด ขึ้นอยู่กับความพร้อมส่วนตัวของแต่ละบุคคลมากกว่า เพราะบางครั้งหรือบางคนมีความพร้อมที่แตกต่างกัน บางคนต้องได้เวลาในการยอมรับ และสิ่งที่ตัวคนนั้นคัมเอาท์ออกมาก็ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องรับรู้เท่ากัน เช่น ถ้าเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ยังอยู่ในกรอบเดิมต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงเท่านั้น ยังไม่เปิดกว้างเรื่องเพศ และก็ไม่ได้เลี้ยงดูเราในปัจจุบันมากนัก เราก็ไม่ต้องจำเป็นต้องคัมเอาท์กับเขามากนัก
“ถ้าเป็น พ่อ แม่ เพื่อนบางคน อาจสามารถเปิดเผยได้ บางคนก็อาจไม่จำเป็นที่ต้องไป บอกต้องเปิดเผยเพียงแต่ว่าการคัมเอาท์ได้ก็จะมีส่วนในเรื่องสุขภาพจิตดีขึ้น คนรอบข้างจึงมีส่วนสำคัญในสร้างการพื้นที่ปลอดภัยให้กับเขาที่จะกล้าเปิดเผยตัวตน แต่ก็ไม่ควรบังคับใครให้คัมเอาท์”
“การสร้างพื้นที่ปลอดภัย #ครอบครัว เข้าใจ ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นเพศไหน การยอมรับได้ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่รวมถึงยอมรับได้ไม่ว่าเขาจะเรียนเก่งหรือไม่เก่ง ยอมรับเมื่อเขาอาจจะทำผิดพลาดบ้าง เป็นบทบาทหนึ่งที่สำคัญของผู้ปกครอง #เพื่อนหรือคนรอบข้าง แสดงการยอมรับในเรื่องเพศ ไม่ล้อ ไม่รังแก หรือตำหนิ ถ้าเพื่อนโดนล้อ รังแก มีก็ส่วนในการช่วยเหลือ ช่วยซัพพอร์ต เห็นอกเห็นใจ ก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้เพื่อนกล้าที่จะคัมเอาท์ออกมา #คุณครู มีบทบาทในการให้ความรู้ความหลากหลายทางเพศในชั้นเรียน เป็นส่วนสำคัญในนักเรียนได้เข้าใจความหลากหลายและเกิดการยอมรับเพื่อนที่เป็น LGBTQ+ มากยิ่งขึ้น”
#GenVClinic #MentalHealth
#คุยเรื่องเพศกับคุณหมอ
#SexEducationBySpectrum
Content & Graphic by Napaschon Boontham
อ่านข่าวเรื่องเพศอื่นๆ : https://bit.ly/38MAJn4
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน
- Advertisement -