- Advertisement -
คุยเรื่องเพศกับคุณหมอหยง: นพ.นิวัฒน์ ลักขณาวงศ์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะ
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
รวบรวมคำถามจากคนที่ส่งเข้ามาถามในกลุ่ม ‘เพศ’
■ ปวดอัณฑะมีอาการบวมแดง เกิดจากสาเหตุอะไร รักษายังไงได้บ้าง?
“ปวดอัณฑะ มีอาการบวมแดง อาจเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ, โดนกระทบกระแทก, ไส้เลื่อน หรือเกิดจากอัณฑะบิดขั้ว (Torsion Testis) คือสายรั้งอัณฑะ (Spermatic Cord) เกิดการบิดตัวหมุนรอบตัวเอง ทำให้มีอาการปวด ฯลฯ ส่วนการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น ถ้าเป็นการอักเสบหรือโดนกระแทกไม่แรง สามารถใช้ยารักษาได้ แต่ถ้าเกิดจากอัณฑะบิดขั้วอันนี้ควรได้รับการผ่าตัดแก้ไขโดยเร็ว ทางที่ดีแนะนำให้พบคุณหมอเพื่อทำการตรวจรักษาหาสาเหตุ”
■ ปัสสาวะมีสีเข้มและแสบขัดเล็กน้อย เกิดจากอะไร รักษายังไง?
“ปัสสาวะออกสีแดง มีเลือดปนมาในปัสสาวะ และมีอาการแสบขัด อาการลักษณะนี้มักเกิดจากการอักเสบที่ระบบทางเดินปัสสาวะ อักเสบติดเชื้อ อักเสบจากนิ่ว หรือสาเหตุอื่นๆ ได้ เบื้องต้นคุณหมอจะพิจารณาทำการตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ อัลตร้าซาวด์ หรือส่องกล้อง ขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้ สำหรับการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ถ้าเป็นอักเสบติดเชื้อคุณหมอก็จะให้ยาปฏิชีวนะรักษา ถ้าเกิดจากนิ่วการรักษาก็มีหลายอย่าง เช่น รับประทานยา ใช้เครื่องสลายนิ่ว ส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ หรือผ่าตัดครับ”
■ ต่อมลูกหมากโตทำให้มีการอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจริงไหม?
“ต่อมลูกหมากโตทำให้มีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศไหม ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดในเรื่องนี้ มีงานวิจัยที่พยายามหาความเชื่อมโยงของทั้ง 2 โรคนี้ซึ่งมักพบร่วมกัน โดยคนไข้อาจปัจจัยร่วม คือ อายุมากและมีโรคประจำตัว เช่น ความดันสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพทางเพศ ทำให้หลายคนที่เป็นต่อมลูกหมากโตจึงมีสมรรถภาพทางเพศเสื่อมด้วย อีกหนึ่งสาเหตุที่พบว่า คนเป็นต่อมลูกหมากโตจะมีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ คือ ผลข้างเคียงจากยากลุ่ม 5α-Reductase inhibitor ที่ใช้รักษาและลดขนาดต่อมลูกหมาก ซึ่งพบได้ประมาณ 3% แต่ถ้าหยุดยาสมรรถภาพทางเพศก็กลับมาเป็นปกติได้ครับ”
■ ฉี่ใส่ที่นอนตั้งแต่เด็กจนโต สาเหตุเกิดจากอะไร รักษายังไงได้บ้าง?
“ปัญหาฉี่รดที่นอนตอนกลางคืน (Nocturnal Enuresis) โดยปกติจะหมดไปเมื่ออายุ 4-5 ขวบ ซึ่งบางคนอาจมีปัญหาฉี่รดที่นอนตั้งแต่เด็กยันโต หรือบางคนเพิ่งมาเป็นตอนโตก็มี สาเหตุของการฉี่รดที่นอนในเด็กหรือผู้ใหญ่ เช่น 1.เกิดจากฮอร์โมนที่ผิดปกติ 2.กระเพาะปัสสาวะกักเก็บน้ำปัสสาวะได้น้อย 3.ถ่ายทอดทางพันธุกรรม 4.ปัญหาด้านการนอน บางคนหลับลึกมากไปจนไม่รู้สึกตัวว่าปวดปัสสาวะ ทำให้ฉี่รดที่นอน 5.ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ซึ่งมีฤทธิในการขับปัสสาวะ 6.โรคบางโรค เช่น เบาหวาน, เบาจืด, ท้องผูก, มีการติดเชื้อหรือมีความผิดปกติทางระบบทางเดินปัสสาวะ ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการฉี่รดที่นอนได้ 7.ปัญหาด้านจิตใจ เช่น ความเครียดก็ส่งผลให้เกิดปัสสาวะรดที่นอนได้ ซึ่งการรักษามีทั้งการใช้ยา และ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม”
■ ฉี่บ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน เสี่ยงเป็นโรคอะไร รักษายังไงได้บ้าง?
“โดยทั่วไปคุณหมอจะใช้เกณฑ์การพิจารณาว่าปัสสาวะบ่อย เมื่อปัสสาวะมากกว่า 7 ครั้งในช่วงระหว่างวัน และตื่นขึ้นมาปัสสาวะมากกว่า 1 ครั้งในช่วงที่นอนหลับ ดังนั้น หากมีปัสสาวะบ่อยจนรบกวนชีวิตประจำวัน อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของโรคบางโรคได้ เช่น โรคทางสมอง ไขสันหลัง หรือเส้นประสาท ซึ่งมีผลทำให้การควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ เกิดปัญหาปัสสาวะบ่อยตามมา”
“โดยสาเหตุของการปัสสาวะบ่อย มีดังนี้ 1. ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์มากเกินไป, โรคเบาหวาน, โรคเบาจืด, ไตทำงานผิดปกติ หรือยาบางชนิดก็ส่งผลทำให้มีปัสสาวะมากได้ 2.ภาวะที่มีการระคายเคืองหรือรบกวนการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อ, นิ่วในทางเดินปัสสาวะ, ต่อมลูกหมากโต, เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ, หรือมีก้อนในช่องท้องกดทับกระเพาะปัสสาวะ ฯลฯ 3.โรคกระเพราะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าปกติ แต่เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะหรือระบบประสาท ทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย”
■ บีบอัณฑะแล้วมีอาการปวด ส่งผลต่อการผลิตอสุจิไหม?
“อัณฑะเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักทุกวัน ผลิตอสุจิ 1,500 ตัวต่อวินาที หรือคือประมาณ 130 ล้านต่อวัน เป็นอวัยวะที่บอบบางมากเพราะไม่มีไขมันและไม่มีกระดูกป้องกันเหมือนกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ดังนั้นหากถูกบีบอย่างรุนแรงอาจหมดสติ หรือหากถูกกระทบกระทั่งอย่างหนักอาจทำให้เป็นหมันได้ แต่ถ้าบีบไม่แรงจนเกิดการอักเสบก็ไม่มีผลต่อการผลิตอสุจิหรือมีบุตร แต่ทางที่ดีเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด แนะนำว่าบีบเบาๆ หรือหลีกเลี่ยงการบีบดีกว่าครับ”
■ การหลั่งบ่อยช่วยลดมะเร็งต่อมลูกหมากจริงไหม?
“ถึงแม้มีงานวิจัยที่บอกว่าการหลั่งอสุจิบ่อยๆ มีแนวโน้มลดการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ (มากกว่า 21ครั้ง/เดือน) แต่ไม่มีคำอธิบายแน่ชัดถึงกลไกการช่วยลดการเกิดมะเร็งจากการหลั่งบ่อย ซึ่งจริงๆ แล้วอาจมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง เช่น คนที่หลั่งอสุจิหรือมีเพศสัมพันธ์ได้บ่อยๆ แสดงว่าร่างกายแข็งแรง ดูแลสุขภาพดีอยู่แล้ว ดังนั้น แม้คนกลุ่มนี้ไม่ได้หลั่งอสุจิบ่อยก็มีแนวโน้มสุขภาพดีห่างไกลมะเร็งได้อยู่แล้ว”
■ ปัสสาวะไม่ออก มีสาเหตุมาจากอะไร รักษายังไงได้บ้าง?
“ปัสสาวะไม่ออกเกิดได้หลายสาเหตุ แบ่งหลักๆ ได้ 3 อย่างคือ 1.มีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต ท่อปัสสาวะตีบ มีนิ่วอุดตันทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ 2.มีความผิดปกติในการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ โดยอาจเกิดจากกระเพาะปัสสาวะเสื่อมสภาพ หรือระบบประสาทที่ควบคุมการปัสสาวะผิดปกติไป 3. ไตวาย ทำให้ไตไม่สามารถขับปัสสาวะออกมาได้ ทั้งสามสาเหตุที่กล่าวมาอันตรายทั้งหมด จึงควรได้รับการตรวจและรักษา สำหรับการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค บางโรคแค่รับประทานยา บางโรคอาจจะต้องได้รับการผ่าตัด ทางที่ดีแนะนำปรึกษาคุณหมอ อย่าปล่อยให้อาการเป็นมากนะครับ”
■ ปัสสาวะเป็นฟอง สาเหตุจากอะไร รักษายังไงได้บ้าง?
“ปัสสาวะเป็นฟอง (Foamy urine) อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้ 1.เบ่งปัสสาวะเร็วและแรง ทำให้น้ำปัสสาวะตกไปกระแทกชักโครก จนเกิดเป็นฟองขึ้น แต่ทิ้งไว้ซักพักปัสสาวะก็กลับมาเป็นปกติ สาเหตุนี้ไม่ได้เป็นอันตรายอะไร 2.การขาดน้ำ (Dehydration) จะทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นมากขึ้นจนเกิดฟอง แนะนำให้ดื่มน้ำให้เพียงพอ (8-10แก้วต่อวัน) ปัสสาวะที่มีฟองจะลดลง 3.โปรตีนรั่วจากไตไปปัสสาวะ (Proteinuria) เมื่อปัสสาวะถูกอากาศแล้วเกิดเป็นฟองขึ้น สาเหตุของโปรตีนรั่วมักพบในโรคไต โรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ฯลฯ โดยคนไข้อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ขาบวม ตัวบวม ความดันโลหิตสูง 4.เกิดจากอสุจิไหลย้อน (Retrograde ejaculation) เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะแทนที่จะถูกขับออกมาทางอวัยวะเพศ ทำให้ปนกันจนเกิดฟอง ภาวะนี้มักเกิดในคนที่เคยผ่าตัดต่อมลูกหมาก คนที่เป็นเบาหวาน โรคทางระบบประสาท 5.เกิดจากรับประทานยาบางชนิดทำให้เกิดปัสสาวะเป็นฟองได้ เช่น ยากลุ่ม Phenazopyridine ซึ่งเป็นยารักษาอาการปวดแสบท่อปัสสาวะ”
■การทำหมันชาย เพิ่มโอกาสการเกิดต่อมลูกหมากโตจริงไหม?
“การทำหมันชาย (Vasectomy) คือ การผ่าตัดเปิดแผลเล็กๆ เพื่อไปผูกท่อนำอสุจิที่อยู่ในถุงอัณฑะทั้ง 2 ข้าง จึงไม่มีผลต่อการเกิดต่อมลูกหมากโต หรือ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อย่างที่หลายคนเชื่อกัน เพราะการผ่าตัดท่อนำอสุจิไม่มีผลต่อฮอร์โมนเพศ สมรรถภาพทางเพศ หรือต่อมลูกหมาก สำหรับการป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต ต้องบอกว่าปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกัน โดยการโตของต่อมลูกหมากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมน พันธุกรรม และอายุที่มากขึ้น แนะนำว่าถ้าเริ่มมีอาการปัสสาวะผิดปกติ เริ่มติดขัด ปรึกษาคุณหมอระบบทางเดินปัสสาวะได้เลย”
มาพูดคุยเรื่องสุขภาพทางเพศกัน
มีคำถามหรือสงสัยอะไรถามหมอมาได้เลยนะ
จะเรื่องเพศ ศัลยกรรม สุขภาพกาย สุขภาพจิต
เดี๋ยวพวกเราจะนำคำถามไปให้คุณหมอตอบให้
‘คุยเรื่องเพศกับคุณหมอ’ https://bit.ly/2TSvha5
เราสร้างกลุ่มนี้ขึ้นมา เพื่ออยากให้สังคมไทยได้มีพื้นที่พูดคุยเรื่องเพศกันมากขึ้น
#คุยเรื่องเพศกับคุณหมอ
#SexEducationBySpectrum
- Advertisement -