“ประสบการณ์การถูกบูลลี่ในโรงเรียน ส่วนตัว ตัวเองไม่ค่อยรู้สึกว่าถูกบูลลี่สักเท่าไหร่ ด้วยความที่ชิน มันคือการชินโดยที่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันคือการบูลลี่ ถ้าย้อนกลับไปมันเป็นคำพูดที่ทำให้เรารู้สึกว่าเอ๊ะ มึงว่ากูนี่หว่า อย่างเช่น ขโมยของเซเว่นมาเหรอ เพราะเราสะโพกใหญ่ใช่ปะ เราปากใหญ่ ตูดใหญ่ เรียกเราว่าบาน”
นี่คือเสียงของ ‘ใบตอง’ ครูสอนร้องเพลง แขกรับเชิญจากตอนที่สองของซีรีส์ ‘พวกเราไม่เอา Beauty Standard’ ที่ได้ถูกกดทับจากสังคม ที่ตีตราเธอว่า ‘อ้วน’ ไม่ว่าจะจากครูหรือคนรอบข้าง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโรงเรียน ซึ่งต้องเป็นที่ ๆ เปิดโอกาสให้ความแตกต่างหลากหลายได้เบ่งบาน
“ถ้าเป็นกิจกรรมในโรงเรียนเคยมีอยู่กิจกรรมหนึ่ง เป็นรถกิจกรรมในโรงเรียนเข้ามาให้ถ่ายรูป อาจารย์ก็เรียกเราลงไป ให้เราไปถ่ายรูปแข่งกับคนที่สวยที่สุดในโรงเรียน ด้วยความที่เราแปลก ไปทำท่าตลก ๆ สิ”
“ตอนนั้นเรามองว่าเออแตกต่างว่ะ แต่ถ้ามองความเป็นจริงมันก็คือการบูลลี่แหละ ไหนลองไปทำอะไรตลก ๆ สิ คนที่ไม่สวย คนอ้วน ไปทำอะไรก็เป็นจุดที่มันขำ เป็นการยัดเยียด เพราะเราก็ไม่ได้อยากจะตลกต่อหน้าคนอื่นให้มาขำ แต่เราก็คงแปลกในสายตาของเขา”
‘Fatphobia’ (ความเกลียดกลัวความอ้วน) คืออะไร? – นักวิจัย ‘Mary Himmelstein’ จากมหาวิทยาลัยเคนต์สเตตได้อธิบายไว้ว่า Fatphobia คือความเกลียดกลัวและเกลียดชังรูปร่างที่ “ถูกมองว่าอ้วน” เป็นการตีตราผู้คนเหล่านั้นว่าขี้เกียจ ไม่ฉลาด หรือเป็นชนชั้นที่ต่ำกว่า ซึ่งก็นำมาสู่การเลือกปฏิบัติต่อผู้คนที่มีน้ำหนักที่ถูกมองว่า “มาก” ในสังคม
“เคยคิดอยากลดน้ำหนักเพราะถูกบูลลี่ไหม ไม่เคย บอกเลยว่าไม่ค่อยได้ใส่ใจกับอะไรแบบนี้ ไม่เคยคิดว่ามันเป็นปัญหา ปัญหาของเรามันไม่ค่อยเป็นปัญหา คนอื่นชอบมาทำให้เป็นปัญหา แบบ แขนใหญ่แล้วทำไมใส่แขนกุด มันสวยอะ ทำไมจะใส่ไม่ได้ มันคือปัญหาของคนอื่นล้วน ๆ เลย ก็ฉันอยากใส่ มันก็ไม่ได้ผิด”
“ปัจจุบันสังคมโอบรับความหลากหลายมากพอหรือยัง มากขึ้น แต่ไม่มากพอ เรามองเห็นถึงความแตกต่างอยู่ สังเกตุจากตัวเรา คนยังมองอยู่เลย ทำไมต้องใส่แขนกุด ทำไมต้องสัก แขนใหญ่ใ่ม่ใช่หรอ คุณอ้วนไม่ใช่เหรอ มันคือสิ่งที่ยังเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน สังคมกว้าง ๆ ที่เรามองเห็นมีคนพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น คนอาจจะรู้สึกเปิดใจมากขึ้น แต่ถามว่ามากพอไหมก็ไม่ได้มากพอ เรามีแขนที่ใหญ่มันผิดอะไร เราอาจจะสุขภาพดีก็ได้นะ แต่เราแค่แขนใหญ่”
“เราใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียน 6 ปีเลยนะ บางคนอยู่ตั้งแต่ประถม มันคือบ้านหลังที่สองดี ๆ นี่เอง ควรจะปลอดภัย ควรสร้างความอบอุ่น สร้างความปลอดภัย ทำให้รู้สึกเป็นตัวเองมากขึ้น เรารู้สึกโชคดีที่เราได้เรียนที่ ๆ เราเรียนมา ทำให้เรามีความเป็นตัวเองมากขึ้น มันปลูกฝังเรา ทำให้เราเป็นเราทุกวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราเลย”
สามารถดูซีรีส์ ‘พวกเราไม่เอา Beauty Standard’ ตอนที่สองได้เลยที่: https://bit.ly/3QwJUvl
#พวกเราไม่เอาBeautyStandard
Content by Alexis to your Mimi
Graphic by Napas
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://bit.ly/3hhRUzp
อ้างอิง
Goodhousekeeping: https://bit.ly/3SPCO7h
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน