‘พวกเราไม่เอา Beauty Standard’ The Series: “ผอมแล้วไง?”
“ตอนประถม สิ่งแรกที่เจอก็จะโดนครูทักว่า ผอม คนก็จะเรียกไอ้ผอม ไอ้ดำ เพื่อนก็จะเรียกตาม ทำให้เด็กคิดว่า ขนาดครูยังเรียกเลย แล้วทำไมเราจะเรียกตามไม่ได้ ก็เลยทำให้มองว่ามันเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อนักเรียนทุกคน และทำให้เรารู้สึกว่าโรงเรียนเป็นสถานที่บ่มเพาะคำว่าบูลลี่ขึ้นมา”
นี่คือเสียงของ ‘เจด้า’ นิสิตฝึกสอน ที่ได้ถูกกดทับจากที่เขามีรูปร่างผอม ที่ได้มาร่วมพูดคุยกับเราถึงพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน พื้นที่เล็ก ๆ ของชีวิตเด็กนักเรียน ที่ได้กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการกดทับและบาดแผลอันยิ่งใหญ่ในใจใครหลายคน วิพากย์โครงสร้างพื้นฐานของสังคม ถ้าการบูลลี่จากความงามมาตรฐาน (Beauty Standard) ได้ถูกแก้ไขตั้งแต่ในโรงเรียน
“ปัจจุบัน เอาจริง ๆ มันก็ไม่ได้หายไปนะครับ การโดนบูลลี่ มันก็ยังมีมาตลอดอาจจะเป็นเพราะว่ารูปลักษณ์เรา เราเป็นคนผอม ผอมจริง ๆ แล้วก็สูง คนก็เลยคิดว่าทำไมผอมจัง กินข้าวอะไรบ้าง ทำไมไม่กินข้าวบ้าง กินปกติหมดทุกอย่าง มันเป็นอย่างนี้ ร่างกายของเรามันเป็นอย่างนี้ จะให้ทำยังไง เราก็พยายามแล้ว แต่มันก็ไปไม่ได้จริง ๆ”
“คนติดยา” เป็นอีกคำหนึ่งที่เจด้าเคยได้โดนล้อเลียนมาโดยตลอดเพราะรูปร่างของเขา ซึ่งเจด้าได้บอกเราว่า เขาจึงเลือกที่จะบูลลี่ตัวเองก่อน เพื่อคนอื่นจะได้ไม่ต้องมาบูลลี่เขา – “เคยมีครั้งหนึ่งตอนผมจะไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย มันต้องเดินทางข้ามจังหวัด เจอตำรวจเรียกลงไปตรวจยาเสพติดทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นใส่ชุดนักเรียนอยู่เพิ่งสอบเสร็จ ตำรวจบอกว่าขออนุญาตตรวจสารเสพติดหน่อย แล้วตอนนั้นเราเป็นเด็ก เราไม่เคยเจออะไรแบบนี้ มันก็เลยเป็นสิ่งที่ฝังในใจเรา”
“สุดท้ายพออยู่มหาลัยเราเลือกที่จะ บูลลี่ตัวเองก่อน เราเลือกที่จะบอกตัวเอง เออ กูเหมือนคนติดยา เพราะอันนั้นมันทำให้เรารู้สึกว่าเราเจ็บน้อยที่สุด จริง ๆ เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ปะวะ เหมือนการด้อยค่าตัวเอง เรายังไม่รักตัวเองเลย สุดท้ายคนอื่นจะพูดยังไงมันก็เป็นสิ่งที่คนอื่นพูด ถ้าเราเปลี่ยนตามคำพูดของคนอื่นไปเรื่อย ๆ แล้วมันจะมีวันไหนที่เราภูมิใจในตัวเอง มีวันไหนที่เราได้หยุดพัก”
“ถ้าอาจารย์รู้ว่าเบื้องหลังการบูลลี่ที่แท้จริงคืออะไร เราถึงจะสามารถแก้ปัญหาบูลลี่ได้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ นักเรียนผิด ขอโทษกัน มันหมดไหม มันก็ไม่หมด ก็จะวนลูปอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ”
“การเรียนที่ไม่มีความสุขคือการเรียนที่ทำให้นักเรียนไม่สามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ผมโดนบังคับไปเรียนผมจะอยากเรียนไหม ไม่ ถ้าผมไปเรียนในคลาสที่เพื่อนต้องบูลลี่แน่เลย ใครจะมีกะจิตกะใจในการเรียน การเรียนรู้มันจะเกิดขึ้นได้ยังไง ต้องทำให้พื้นที่โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยมากกว่า ที่นักเรียนสามารถจะทดลองได้ว่าฉันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก่อนที่เขาจะไปสู่ชีวิตจริงในวัยทำงาน”
“แล้วถ้าเกิดว่าโรงเรียนยังจะบ่มเพาะวัฒนธรรมนี้ต่อไปเรื่อย ๆ นักเรียนต้องอยู่ในการศึกษา 12 -18 ปี แล้วในระยะเวลานี้ที่เขาต้องอยู่ในการศึกษาในสังคมที่มีการบูลลี่ หรือเรื่อง Beauty Privilege (การได้รับสิทธิพิเศษเพราะความงาม) ที่เป็นเรื่องปกติอยู่ แล้วถ้าเขาไปทำงาน ลองคิดดูว่าสังคมที่เขาไปเขาจะแสดงสังคมแบบไหนออกไป สุดท้ายมันก็ไม่แตกต่างจากเดิม ก็เป็นสังคมแห่งการบูลลี่ และมองว่า Beauty Privilege เป็นอะไรที่ปกติอยู่”
“ประเทศไทยติดอยู่ในปัญหาเชิงโครงสร้างที่นานมาก และมันโยงไปหมดตั้งแต่ระบบการศึกษา หรือระบบต่าง ๆ ระบบการดำเนินชีวิตทุกอย่าง จนทำให้สุดท้ายสังคมมันออกมาเป็นอย่างนี้ สุดท้ายแล้วระบบการศึกษาเป็นระบบแรก เป็นหลักที่จะต้องพัฒนา ถ้านักเรียนมีความคิดที่ดี เขาก็จะรู้ว่าอันนี้คือการบูลลี่ ทั้งต่อหน้าและโซเชียล ปัญหามันก็จะหายไป”
สามารถดูซีรีส์ ‘พวกเราไม่เอา Beauty Standard’ ตอน ‘ผอมแล้วไง?’ ได้เลยที่: https://bit.ly/3AbtenW
#พวกเราไม่เอาBeautyStandard
Content by Alexis to your Mimi
Graphic by Napas
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://bit.ly/3hhRUzp
#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน