คุยกับ ‘บิว ณัฏฐา’ ตัวแทนไทยคนแรก บนเวที ‘Miss Face of Humanity’ ในประเด็นสิทธิมนุษยชน – Beauty Standard กับการประกวดนางงาม, ปัญหาของนักโทษในเรือนจำ, การศึกษา และความเท่าเทียมทางเพศ

- Advertisement -

เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ได้มีเวทีการประกวด ‘Miss Face Of Humanity’ ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “เวทีสายสปีช” ที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนล้วน ๆ ที่ตัวแทนผู้หญิงแต่ละประเทศจะได้บอกเล่าเรื่องราว ประเด็นต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคม ซึ่งประเทศไทยก็ได้ตัวแทนอย่าง ‘คุณบิว-ณัฏฐา ทองแก้ว’ สาวใต้วัย 28 ปีไปร่วมคว้ามงกุฏนี้ วันนี้เราจึงได้คุณบิวมาร่วมพูดคุยถึงประเด็นสังคมต่าง ๆ เพื่อให้เรารู้จักตัวตนของเธอมากยิ่งขึ้น

SPECTRUM OF HUMAN: ‘บิว ณัฏฐา’ ตัวแทนประเทศไทยคนแรกบนเวที ‘Miss Face of Humanity’

“สวัสดีค่ะ บิว ณัฏฐา ทองแก้ว นะคะ ตอนนี้อายุ 28 ปีแล้ว บิวก็เข้าวงการนางงามผ่านการประกวด MUT ปี 2019-2020 มานะคะ พร้อม ๆ กับการประกวดก็เป็นแอร์โฮสเตสประมาณ 2 ปีกว่า แต่ว่าด้วยวิกฤตโควิดเลยต้องหยุดบิน ซึ่งช่วงที่บิวหยุดบินก็เป็นจังหวะ ที่ได้รับโอกาสแต่งตั้งให้เป็นนางงามตัวแทนประเทศเราไปประกวดเวที Miss Face of Humanity พอดีค่ะ เลยใช้ช่วงเวลาระหว่างรอไปประกวดนี้ เตรียมตัว ฝึกฝน ทำงานช่วยเหลือสังคม เพราะเวทีที่กำลังจะไป เป็นปีแรกที่ประเทศไทยเราส่งตัวแทน เลยอยากทำให้เต็มที่ค่ะ”

หลาย ๆ คนคงจะรู้จักคุณบิวในฐานะผู้เคยเข้าร่วมการประกวดเวที Miss Universe Thailand ในปี 2019 และปี 2020 ซึ่งในปีล่าสุดนั้นเธอได้เข้ารอบลึกไปถึงรอบ 20 คน อีกทั้งล่าสุดเธอก็ได้ไปร่วมเป็นหนึ่งในกรรมการรอบคัดเลือกของเวทีนางสาวไทย 2565 อีกด้วย ด้วยลีลาการตอบคำถามในเวทีที่ผ่านมา ทำให้ใครหลาย ๆ มองว่าเธอเป็น “นางงามสายสปีช” ที่รอบรู้คนหนึ่ง

เราจึงได้ถามถึงที่มาของความสนใจในประเด็นสังคมของเธอ โดยคุณบิวเล่าว่ารอบตัวคุณบิวเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่ชอบนำประเด็นสังคม เทรนด์ทวิตเตอร์ต่าง ๆ มาถกเถียงกัน จนเธอได้ฝึกตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว ทำให้เข้าใจถึงเรื่องของปัญหาเชิงโครงสร้างในประเด็นต่าง ๆ ในสังคมมากขึ้น ทำให้เธออยากจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคม

“บิวก็เลยก้าวเข้ามาใช้พื้นที่ของเวทีนางงามในยุคปัจจุบันนี่แหล่ะ ได้แสดงความคิดเห็นและเราก็คิดว่า หากคนดูเค้ารู้สึกเหมือนกันกับเรา หรือสิ่งที่เราพูดมันไปกระตุกต่อมสงสัยของเค้า ประเด็นสังคมหลาย ๆอย่างมันจะมีคนมาช่วยกันขับเคลื่อนมากขึ้น ปัญหาต่าง ๆ จะถูกพูดถึง และเกิดแรงกระเพื่อมมากขึ้นค่ะ สิ่งนี้คือความหมายของคำว่า “ขับเคลื่อนทางสังคม” ที่บิวอยากฝันให้มันเกิดขึ้นจริง ๆ ค่ะ”

นี่เป็นเพียงแค่บางส่วนของการพูดคุยกับคุณบิวเท่านั้น วันนี้เราได้ชวนคุณบิวได้พูดคุยถึงประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีอยู่ของเวทีประกวดนางงาม มาตรฐานความงามในสังคม การศึกษาที่ยังสนับสนุนนักเรียนไม่มากพอ นักโทษในคุกที่สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ความเท่าเทียมทางเพศกับบทบาทของผู้หญิงในสังคม สิทธิมนุษยชนที่เวทีนี้ให้ความสนใจ รวมไปถึงความฝันที่อยากจะเป็นอาจารย์สอนพิเศษของเธอ

สำหรับเวที Miss Face of Humanity 2021 ได้ถูกเลื่อนมาจัดการประกวดในวันที่ 2 เมษายนที่จะถึงนี้ ที่เมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา ผู้ที่สนใจสามารถร่วมโหวตเป็นกำลังใจให้คุณบิว ณัฏฐา ทองแก้ว ได้ที่: https://bit.ly/3rjS6UG เพื่อให้เธอคล้องสายสะพายประเทศไทยพร้อมไปบอกเล่าเรื่องราว ตัวตน และประเด็นสิทธิมนุษยชนสู่เวทีโลกที่น่าสนใจอีกหนึ่งเวที และได้กระเพื่อมบทสนทนาของผู้คนในสังคมตามที่เธอตั้งใจไว้

สามารถติดตามอินสตาแกรมของคุณบิวได้ที่: https://bit.ly/3nlkRQ0

- Advertisement -

สำหรับตัวคุณบิว เวทีนางงามนั้นเธอมองว่าเป็นสื่อบันเทิง (Entertainment) รูปแบบหนึ่ง ในการสอดแทรกประเด็นปัญหาสังคม ที่เราเห็นได้จากหลาย ๆ ครั้งคำตอบของนางงามนั้นจะถูกนำไปค้นหาความหมายต่อ ช่วยเปิดหน้าต่างให้ผู้คนได้ขบคิดกันถึงประเด็นเหล่านั้นมากขึ้น

“บิวเลยมองว่าอย่าง Miss Face of Humanity มันเป็นปรากฏการณ์ของเวทีนางงามยุคใหม่ ที่เป็นรูปธรรมมากเลยนะ และมันเชิดชูความกล้าหาญของผู้หญิงด้วย เพราะปัจจุบันถึงแม้จะเห็นว่าผู้หญิงมีศักยภาพมากขึ้นในหลาย ๆ แวดวงอาชีพนะ แต่โอกาสในการมีส่วนร่วมในด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงนโยบายและภาคปฏิบัติ ยังถูกจำกัดอยู่ เวทีนี้จะจุดประกายให้สังคมวงกว้างให้เห็นถึงความสำคัญกับบทบาทสตรียุคใหม่ ไปพร้อม ๆ กับปัญหาที่เพื่อนมนุษย์เราต้องเผชิญ นางงามตัวแทนแต่ละประเทศจะมาพร้อมกับเรื่องราวและสิ่งที่ยังท้าทายที่ยังคงเป็นปัญหาในสังคมที่เธออาศัยอยู่ เพื่อรอมาบอกเล่ากับทุก ๆ คนในเวทีนานาชาติ”

“ตลอดเวลาที่ผ่านมาการประกวดนางงามได้ทำหน้าที่บางอย่างมาเสมอ เพื่อเป็นแรงกระเพื่อมทางนึงให้กับสังคม ทั้งบริบทเวทีและการเปิดใจของผู้จัดของหลาย ๆ เวทีก็ค่อย ๆ เติบโตไปกับยุคสมัยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในอนาคต ถือเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมนางงามทั่วโลก รวมไปถึงความพร้อมของคนในสังคมว่า จะจำกัดนิยามคำว่า สวย ของนางงามไว้เพียงเท่านี้ หรือ ยอมรับในความหลากหลายอย่างแท้จริง”

“การตัดสินว่า คนนี้คือคนสวย คนนี้ไม่สวย เป็นมาตรฐานที่มาจากไหนไม่รู้ หรือคำว่าสวยมันไม่เคยมีอยู่จริง” – คุณบิวนั้นคิดว่านางงามยังควรมีอยู่ แม้จะมีคนบอกว่า เป็นการตีกรอบความงามและเป็นการลดทอนคุณค่าของผู้หญิงลง แต่เธอก็ได้มองว่าค่านิยมความงามนี้มีจุดเริ่มต้นมานานมาก

“มายาคตินี้ เป็นความท้าทายของ ผู้คนในสังคมวงกว้าง และ ตัวผู้จัดการประกวดเอง ว่าในอนาคตจะสามารถวางโจทย์ในคุณสมบัตินางงาม ไปในทิศทางไหน มันไม่ควรเป็นหน้าที่ของคนใด คนนึง แต่มันโยนคำถามกลับมาว่า เราทุกคนพร้อมจริง ๆ หรือยังกับการเปลี่ยนแปลงชุดความคิดเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กัน”

“ในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามี นางงามหลายคนกล้าที่จะแสดงอัตลักษณ์ จุดยืน หรือกล้าที่จะเล่าเรื่องส่วนตัว ให้สังคมได้ยินถึงบาดแผล หรือเรื่องราวที่พวกเค้าเคยรู้สึกเจ็บปวดมา ทั้งเรื่องราวในชีวิตที่พวกเค้าเคยพบเจอมาแล้วรู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้ว ที่เค้าจะสามารถเป็นตัวแทนในเรื่องราวของตัวเขาเอง หรือ เป็นเรื่องราวของคนกลุ่มอื่น ที่เขารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมกับคนเหล่านั้น”

เราได้ถามคุณบิวถึงแนวทางในการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ว่าเราสามารถทำอย่างไรได้บ้างในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ – “อันดับแรกต้องหยุดมองเรื่อง สิทธิมนุษยชน ว่าเครียด น่าเบื่อ หรือไกลตัวเกินจะพูดถึงมัน เพราะเค้าเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก ๆ ทั้งในชีวิตประจำวัน หรือชีวิตการทำงาน และมีความสําคัญในฐานะที่เป็นอารยธรรมโลก ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย”

“ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยน หรือ มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นใน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จะยังคงเป็นรากเหง้าที่ตั้งอยู่ไม่ได้ผกผันเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา เพียงแต่สังคมไทยเรายังไม่ได้ส่งเสริมแนวคิดนี้ให้คุ้นชิน กลมกลืน และยังคงมองว่า สิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องเข้าใจยาก เพราะหลัก ๆ แล้วมักถูกพูดถึงโดยคนกลุ่มคนที่มีแนวคิดเหมือนกัน ซึ่งก็จบแค่นั้น ไม่ได้พัฒนาบทสนทนานี้ให้ออกสู่วงกว้าง ไม่มีการเจริญเติบโตของคุณค่า ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่ฝังมากับชีวิตเราตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่”

“ลองคิดดูว่ามันจะดีแค่ไหน ถ้าเด็กผู้หญิงเค้ารู้จักสิทธิบนเนื้อตัวของตัวเอง รู้จักปฏิเสธ หลีกหนี และ ปกป้องตนเอง ซึ่งต้องมองกลับมาที่ ความสำคัญของการศึกษาขั้นพื้นฐาน การทำความเข้าใจ สิทธิมนุษยชน ที่เป็นในรูปแบบบริบททางวิชาการ โดยสอดแทรกไปในวิชาเรียน เด็กจะเข้าใจว่ามันคือแก่นที่เค้าเอาไว้ยึดเหนี่ยว และเอามาอ้างอิงได้”

สืบเนื่องมาจากการทำงานในเรือนจำมากว่า 30 ปีของคุณพ่อของเธอ ทำให้คุณบิวริเริ่มโครงการพูดคุยกับนักโทษในเรือนจำ ที่เธอได้เข้าไปรับฟังเสียงของเหล่าผู้ต้องขัง จนทราบถึงที่มา และเหตุจูงใจให้พวกเขากระทำผิด ซึ่งคุณบิวได้แยกออกเป็น 3 ข้อคือ ตัดสินใจกระทำผิดด้วยความตั้งใจ ขาดโอกาสและการยอมรับจึงเลือกทำผิดเพื่อความอยู่รอด และคุณภาพชีวิตไม่เพียงพอที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีพ

“การที่เรามาคุยกับคนที่เคยทำผิด ไม่แปลว่าเราโลกสวย หรือสร้างภาพสวยงามให้กับคนกลุ่มนี้ แต่เรามาเจอเค้าในวันที่ตัวเค้าเองก็กำลังได้รับโทษผ่านกระบวนการยุติธรรมแล้ว มันยังทำให้บิวเห็นว่าในอีกแง่มุมนึง ของคนที่เลือกจะทำผิดพลาด บางทีก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเริ่มมาจากปัจจัยทางโอกาสต่าง ๆ ที่เค้ายังไม่ได้รับมัน”

“ซึ่งปัญหาของนักโทษนี้ เป็น 1 ตัวอย่างของบทลงเอยในภาวะขาดแคลนทางโอกาส ซึ่งเราสามารถเห็นปัญหาสังคมหลาย ๆ มิติได้เลยจากจุดนี้จุดเดียว เลยเป็นที่มาและจุดเริ่มต้นในการทำงานเพื่อกลุ่มคนที่ยากไร้และขาดโอกาสในสังคมมาเรื่อย ๆ ไม่เลือกเฉพาะด้านใดด้านนึง และยังเชื่อมั่นเสมอว่า เราสามารถหยิบยื่นโอกาสให้กันและกันได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากคนที่กำลังมองหามันอยู่”

“การแก้ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศต้องยกมาแก้ทั้งองคาพยพเลย เพราะดูเหมือนว่า ประเทศไทยก็ให้เสรีภาพทางเพศมากขึ้นนะคะ เรายินดีกับการเดินทางตรงนี้ แต่หากมองดี ๆ ก็ยังมีการจำกัดพื้นที่ จำกัดสิทธิทางเพศอยู่ในหลายมิติ ทั้งสิทธิของชาว LGBTQ+ หรือความรุนแรงผู้หญิง ที่สร้างโศกนาฏกรรมครั้งที่นับไม่ถ้วน” – นี่คือความคิดเห็นของคุณบิว ต่อความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทย

“ประเทศไทยเรามีสถิติผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรงมากกว่า ร้อยละ 44 ที่ผู้หญิงไทยเคยถูกสามีทำร้ายหรือถูกบุคคลอื่นล่วงละเมิดทางเพศ ความท้าทายของสังคมไทยคือ จะลบอคติของคนในสังคมยังไงว่า ความรุนแรงในชีวิตคู่เป็นเรื่องปกติ คนนอกไม่ควรยุ่ง และผู้หญิงคือเหยื่อของอารมณ์ เราเห็นคนชอบเล่นมุกผู้ชายกลัวเมีย เอาเงินให้เมียเก็บ แต่ทำไมยังมีข่าวผู้หญิงถูกสามีทำร้าย หรือผู้หญิงถูกฆ่าข่มขืนแทบทุกวัน”

“บิวว่ามาถึงวันนี้ สังคมเราไม่ควรนิ่งเฉยกับความรุนแรงในทุกกรณี และไม่มีข้ออ้างสำหรับความชอบธรรมใด ๆให้กับความรุนแรง และไม่ควรกล่าวโทษว่าเป็นความผิดจากพฤติกรรมของเหยื่อที่มีผลต่อการตัดสินใจ เราควรวางบรรทัดฐานในสังคมใหม่ว่าผู้หญิงไม่ใช่เหยื่อของอารมณ์ทุกประเภท”

“ผู้หญิงไม่ต้องคาดหวังให้ตัวเองมีอำนาจเหนือใคร แต่ควรให้ผู้หญิงมีอำนาจเหนือตัวเอง กล้าส่งเสียง กล้าเปิดใจขอความช่วยเหลือ กล้าเดินออกมาจากความผิดหวัง และกล้าที่จะเรียกร้องสิทธิให้กับความเจ็บปวดในสิ่งที่ตัวเองต้องพบเจอก่อน มันไม่ใช่ภาระตามธรรมชาติเลยค่ะ ที่เค้าต้องมาแบกรับ มาปิดบัง ไม่กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง เพื่อให้สิทธิในการมีชีวิตที่ปลอดภัยมันไม่เลือนหายไปจากชีวิตของเรา”

เมื่อถามถึงอีกหนึ่งความฝันที่บิวอยากจะเป็นในอนาคต เธอได้แบ่งปันกับเราว่าเธออยากเป็นวิทยากรรับเชิญในมหาลัย หรือในโรงเรียน ซึ่งตัวเธอก็เคยได้โอกาสรับเชิญไปบรรยาย 3-4 ครั้งแล้วรู้สึกมีความสุขมาก และเธอก็ได้มองเห็นถึงความสำคัญของ การ “รับฟัง” และ “การได้เป็นผู้ฟังที่ดี” จากประสบการณ์ตรงนี้

“การศึกษาควรมีคาบพิเศษให้เด็กนักเรียนได้พูดถึงความฝัน สิ่งที่เค้าอยากลองทำ หรือ เปิดโอกาสให้เค้าได้ถามคำถามอื่นๆนอกเหนือจากด้านวิชาการบ้าง บิวว่าเด็กเค้ามีอะไรในใจอยากพูดเยอะนะ แต่ติดที่เค้าไม่รู้ว่าพูดไปแล้วจะมีคนรับฟังเขาหรือเปล่า พูดไปแล้วจะมีน้ำหนักไหม จะเป็นตัวตลกหรือเปล่า จนมันทำให้ความมั่นใจในตัวเขาเริ่มฝ่อลงไป”

“ไม่ใช่แค่เด็ก ๆ จะได้พูดถึงความต้องการตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่สถาบันเองจะได้วิพากย์การเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนไปด้วยไปด้วย พลังของคนรุ่นใหม่ หรือ เสียงในใจเค้าเป็นสิ่งที่น่าจับตามองและผู้ใหญ่เองควรให้การสนับสนุนเค้า ในขณะเดียวกันจะส่งผลให้เยาวชนไทยมีบุคลิกที่กล้าแสดงออก กล้าสื่อสาร กล้ายอมรับ และพร้อมเป็นผู้ฟังที่ดีของผู้อื่นเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยังขาดหายไปในสังคมไทยของเรามาก”

#bewnuttha #MissFaceofHumanity
#HumanRights #BeautyStandard
#SocietyProblems #Movement

Content by Alexis to Your Mimi
Graphic by Napaschon Boontham
อ่านคอนเทนต์เรื่องเพศอื่นๆ: https://bit.ly/3hhRUzp

#SPECTRUM #พื้นที่ความคิดของทุกสีสัน

- Advertisement -
กันตพงศ์ เชี่ยวพิมลพร
กันตพงศ์ เชี่ยวพิมลพร
นักหาทำอันดับหนึ่งที่คิดว่าจะยังคงหาทำต่อไปและตามหาตัวเองไปเรื่อยๆ เชื่อว่าเสียงของทุกคนมีความหมาย(วะวะว๊าว) เวลาว่างชอบทำตัวให้ไม่ว่าง(แฮ่)
นภัสชล บุญธรรม
นภัสชล บุญธรรม
Illustrator & Graphic Designer