กลุ่มทำทาง: เพื่อนร่วมทางของคนทำแท้ง

- Advertisement -

กว่า 13 ปีของผู้คนและพื้นที่เล็ก ๆ ที่จะพาการทำแท้งให้ออกมาอยู่ในแสงสว่าง

- Advertisement -

บ่ายแก่ ๆ วันธรรมดา เราเดินเข้าไปในบ้านตึกแถวขนาดหนึ่งคูหา ที่มีเจ้าของบ้านพร้อมเจ้าแมวขนฟูออกมารอต้อนรับ 

ภายในห้องเล็ก ๆ มีโซฟาสองสามตัววางไว้พร้อมโต๊ะรับแขกที่มีขนมพร้อมทาน ถัดไปเป็นโต๊ะทานข้าว ใกล้ ๆ กันมีชั้นวางของและป้าย ‘กลุ่มทำทาง’ สีสันสดใสขัดกับเฉดสีของการทำแท้งที่ผู้คนต่างจิตนาการว่าต้องมืดมน อึมครึม  และนี่อาจเป็นโทนของการทำแท้งที่กลุ่มทำทางกำลังสรรสร้างให้เกิดขึ้น

เรานั่งลงและเริ่มพูดคุยกับสมาชิกส่วนหนึ่งของกลุ่มทำทาง ในที่แห่งนี้มีชมพู่ นุ่ม ตุ๊กตา เนี้ยบ อ้อย มุ้ย ปั๊บ นั่งอยู่บนโซฟาแต่ละด้าน และถัดมาเป็นพวกเราก่อนจะหันหลังไปเจอกับจ๊อด

#คนทำทาง

เราเริ่มจากให้แต่ละคนแนะนำตัวเป็นชื่อของตนเอง พร้อมตำแหน่งหน้าที่ในกลุ่มนี้

“สุพีชา ชมพู่ค่ะ เป็นผู้ประสานงาน”

“นุ่มค่ะ ทำฝ่ายวิชาการและรณรงค์”

“พี่อ้อยเป็นเครือข่ายเข้า ๆ ออก ๆ อยู่ตลอดแหละ”

“ตุ๊กตามา 2559 ค่ะ เป็นเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา มีทำการเงินแปบนึง ตอนนี้ให้คำปรึกษายาวค่ะ”

“มุ้ยมาเป็นอาสาสมัครค่ะ แต่ว่าผลุบ ๆ โผล่ ๆ มาบ้างไม่มาบ้าง”

แล้วมุ้ยก็เริ่มเล่าถึงที่มาที่ทำให้เธอสนใจกลุ่มทำทาง และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง

“จำได้ว่าภาพแรกเลยคือเราเห็นตุ๊กตาชูป้ายอยู่ที่หอศิลป์ เป็นภาพที่เป็นแรงบันดาลใจให้เรารู้สึกว่า มันเป็นงานที่จริงๆ เราสนใจแหละ แต่ยังไม่กล้าที่จะออกมา พอเห็นเขาถือป้ายอันนั้นก็เริ่มขอไปด้วยได้ไหม ขอมาด้วย ยังไม่ได้ชัดเจนเท่าไหร่”

ตุ๊กตาหันมาเล่ามุมของมุ้ยบ้าง ว่ามุ้ยเป็นเสาหลักของกลุ่ม ทั้งการดูแลแมว ความสะอาด อาหารการกิน การตัดเย็บ ไปจนถึงสินค้าที่เคยมีขายเป็นของที่ระลึก เช่น ปลอกคอแมว ‘Abortion Activist’ ก็มีมุ้ยเป็นคนช่วยจัดทำ

ด้านอ้อย ถูกเพื่อน ๆ ในกลุ่มเรียกว่าหน่วยเคลื่อนที่ (Mobile) ที่เมื่อมีปัญหาหรืองานที่ไหนก็พร้อมจะไปสนับสนุนกลุ่มเสมอ เช่นเดียวกับจ๊อดที่เข้ามาในฐานะอาสาสมัคร ก่อนมาอยู่ใกล้ชิดในช่วงขยายเครือข่ายแรงงาน

“ส่วนของปั๊บ จริงๆ เรารู้จักกันในงานของเครือข่าย Choices ปั๊บไปในนาม ‘การเมืองหลังบ้าน’ พอมีประชาชนปลดแอกกับเยาวชนปลดแอกตั้งในตอนปีพ.ศ. 2563 เราเลยรู้สึกว่ามันต้องมีผู้หญิงปลดแอกบ้าง ปั๊บได้ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์เรื่องทำแท้งในม็อบประชาธิปไตย ซึ่งปั๊บว่ามันเป็นโมเมนต์ประวัติศาสตร์หนึ่งว่าเราเอาเรื่องทำแท้งขึ้นไปอยู่ในเรื่องสิทธิทางเพศ เรื่องสิทธิผู้หญิงหรือคนตั้งครรภ์ได้ขึ้นไปบนม็อบประชาธิปไตย แล้วไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่สนับสนุนผู้หญิงปลดแอกทำให้เราได้ลุกขึ้นมา ทุกคนต้องการให้เรามีพื้นที่ ทีนี้ปั๊บก็ได้รู้จักกับประเด็นทำแท้ง แล้วก็กลุ่มทำทาง แต่เข้ามาร่วมกลุ่มจริง ๆ ในเดือนตุลาคมปีพ.ศ. 2564 ในฐานะผู้ประสานงานพาร์ทไทม์ก่อนเปลี่ยนมาอยู่ฝ่ายรณรงค์”

มาถึงคนสุดท้ายคือเนี้ยบ เธอเล่าว่าได้เจอกลุ่มกลุ่มทำทางครั้งแรกตอน Mob Fest เมื่อปีพ.ศ. 2563 และตรงดิ่งไปคุยกับชมพู่ขณะม็อบกำลังเลิก ตอนนั้นเธอทำงานกับ NGO อีกที่หนึ่งก่อนมาเป็นอาสาสมัครกลุ่มกลุ่มทำทาง ไปไหนไปกันทุกที่ จนปีพ.ศ. 2565 ชมพู่ก็ชวนมาทำงานด้วยกันอย่างเต็มตัว

#จุดเริ่มต้นทำทาง

กลุ่มทำทาง เริ่มต้นในปีพ.ศ. 2553 จากชมพู่ซึ่งสนใจแปลเว็บเพจ Women on Web เว็บไซต์ที่ให้บริการปรึกษาออนไลน์ และจ่ายยาทำแท้งให้กับผู้รับบริการทั่วโลก 

เพจนี้รวบรวมข้อมูลการทำแท้งที่ปลอดภัย วิธีการเข้ามาปรึกษา ไปจนถึงวิธีการรับยา แต่ขณะนั้นเว็บไซต์มีเพียงภาษาอังกฤษ ภาษาสเปน แต่ยังไม่มีภาษาไทย 

หลังจากนั้นไม่นาน ทาง Women On Web เสนอให้ชมพู่เป็นเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาสำหรับเพจเวอร์ชั่นภาษาไทยเธอจึงเข้ารับการอบรมการให้คำปรึกษาการทำแท้งปลอดภัยทั้งทางออนไลน์ และอบรมตัวต่อตัวจากเจ้าหน้าที่ Women On Web ที่เดินทางมาอบรมให้ที่ประเทศไทย ก่อนเริ่มเป็นเจ้าหน้าที่คอยตอบคำถามให้กับผู้รับบริการที่ใช้ภาษาไทยในเวลาต่อมา

ทว่าในช่วงปลายปีเดียวกันเองก็มีข่าวพบซากตัวอ่อนจากการทำแท้ง 2,000 ซาก ซึ่งทำให้คลินิกทำแท้งในไทยหลายแห่งต้องปิดตัวลง จึงเป็นช่วงเวลาที่ชมพู่เขียนบล็อกขึ้นมาในชื่อ “Tamtang.wordpress”

“คลินิกทำแท้งเขาปิดแล้วเดี๋ยวก็เปิด เพราะสิ่งที่เขาทำมันถูกกฎหมาย มันปิดเพราะกระแสรบกวนจากสังคม เขาไม่ได้ถูกฟ้องเพราะทำผิดกฎหมายแล้วปิด ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ คือคนยังเข้าไม่ถึงบริการ ไม่รู้ว่าที่ไหนมีบริการทำแท้ง”

“จากเรื่อง 2,000 ซากที่พบครั้งนั้นสิ่งที่เรารู้สึกก็คือมันมีแต่เสียงของคนอื่นหมดเลย เสียงของหมอ ของนักการเมือง ของตำรวจ เสียงของคนที่ถูกจับ คลินิกที่ถูกจับอะไรอย่างนี้ มีเสียงของพระ มีเสียงของคนแถว ๆ นั้นที่ได้ยินหลอกหลอน แม้กระทั่งเสียงของสัปเหร่อ มีเสียงของทุกคน แต่ไม่มีเสียงของคนทำแท้งแม้กระทั่งคนเดียว” ชมพู่เล่า

การคิดชื่อกลุ่มเริ่มต้นจากการพูดคุยระหว่างอาสาสมัคร 3 คนที่ทำงานรวมกัน คือชมพู่ ตุ๊ก และสิน ในตอนนั้นต้องเริ่มออกไปประชุมในสถานที่ต่าง ๆ แต่ไม่รู้ว่าจะอธิบายในฐานะกลุ่มว่าอย่างไร จึงตัดสินใจคุยกันถึงชื่อกลุ่ม

ชมพู่จำที่มาของชื่อได้ไม่แน่ชัดนัก แต่การพูดคุยครั้งนี้ทำให้สมาชิกแต่ละคนร่วมกันตกผลึกว่าน่าจะเป็นการสอดคล้องระหว่างคำว่า ‘ทำแท้ง’ เมื่อสะกดเป็นภาษาอังกฤษ จึงเกิดมาเป็นกลุ่มทำทาง (Tamtang) 

“มันคือกลุ่มทำทางทำแท้ง พอเราเขียนภาษาอังกฤษแล้วอ่านภาษาไทย กลับระหว่างสองภาษานี้ คำว่าทำทางก็มีความหมาย ทำแท้งก็มีความหมาย”

ชมพู่ตั้งใจเปิดบล็อกขึ้นมาให้เป็นพื้นที่ของผู้คนที่ผ่านการทำแท้งได้เขียนเล่าประสบการณ์ ให้ผู้คนมาพูดคุยกัน แชร์ประสบการณ์ พลางคลายอคติและกระแสแง่ลบต่อการทำแท้ง ไปจนถึงการให้คำปรึกษา 

กระทั่งน้ำท่วมใหญ่ในปีพ.ศ. 2554 ที่ต้องย้ายบ้านและไม่สามารถตอบคำถามของผู้คนผ่านการตั้งกระทู้ในบล็อกได้

“เราเป็นห่วงก็เลยทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้ การให้คำปรึกษาหลังจากนั้นเลยกลายเป็นสายโทรศัพท์ เพราะคนรู้สึกว่ามันเร็วกว่า ดังนั้นงานให้คำปรึกษาเป็นงานแรกที่เราทำค่ะ”

 #งานของทำทาง

กลุ่มทำทางปรับเปลี่ยนแนวทางการให้คำปรึกษาตามพัฒนาการของเทคโนโลยี โดยในช่วงแรกผู้ให้คำปรึกษาจะถือโทรศัพท์กันคนละเครื่อง และคอยตอบอีเมล์ที่ส่งเข้ามาสอบถาม จนเป็นจังหวะที่ตูน ชนกนันท์เข้ามา พร้อมกับไอเดียของการทำไลน์ (Line Official) กลายเป็นจึดเริ่มต้นของการใช้ไลน์ให้คำปรึกษาเรื่อยมา

นอกเหนือจากงานให้คำปรึกษาแล้ว งานรณรงค์ก็เป็นอีกส่วนที่กลุ่มทำทางคอยผลักดันและสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดการพูดคุยเกือบสองชั่วโมง เราพบว่ากลุ่มทำทางเข้าร่วมและเป็นผู้ริเริ่มในหลายการชุมนุม การประท้วง การเรียกร้องตามสิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไปจนถึงจัดทำแถลงการณ์และข้อเรียกร้องยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ลงโทษผู้ที่ทำแท้ง 

“โดยพื้นฐานของทุกคนตรงนี้เป็นนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวอยู่แล้ว พี่ชมพู่ พี่นุ่มอยู่ในภาคของเครือข่ายประชาสังคมมาตลอด พี่อ้อย พี่มุ้ย ปั๊บ ตุ๊กตาก็ด้วย เพราะฉะนั้นเราจะมีความเป็น NGO สูง ก่อนตุ๊กตาจะเข้ากลุ่มทำทางก็ทำเรื่องความหลากหลายทางเพศมาก่อน แล้วก็มีใจที่จะประท้วงสูง”

“พอเราให้คำปรึกษาก็จะเห็นปัญหาว่าทำไมงานของเราถึงได้โดดเดี่ยว มีเพียงเรากับผู้รับบริการเท่านี้เหรอ แล้วเครือข่ายก็มีแต่ผู้ให้บริการเท่านี้เหรอ อยากจะให้มีคนที่เข้าใจประเด็นนี้มากขึ้น เราเลยทำงานอบรบ สร้างความเข้าใจกับประชาชน”

นุ่มเล่าเพิ่มเติมว่า งานของการรณรงค์และให้ความรู้นั้นเริ่มต้นจากการตอบปัญหาของผู้ที่เข้ามารับคำปรึกษาแล้วพบว่าคำถามส่วนใหญ่เกิดมาจากปลายทางของปัญหา เช่น ทำไมสถานบริการจึงมีน้อย เมื่อเจาะประเด็นเหล่านี้ลงไปถึงพบว่าเป็นเพราะความเกรงกลัวต่อกฎหมาย กลัวเปิดแล้วจะมีปัญหา จึงต้องแก้ปัญหาที่ปมแรกเสียก่อน

“สังคมมันทำให้คนทำแท้งโดดเดี่ยวมาก ได้รับอคติมาก ดังนั้นก็ต้องทำงานกับสังคมด้วย ปัญหาที่เรารับฟังมามันจะบอกว่าเราควรจะทำอะไรต่อไป แต่ว่าตอนนั้นกลุ่มทำทางก็ตัวเล็กตัวน้อยมาก สิ่งที่เราพอทำได้ก็คือพูดให้คนอื่นฟัง ให้เขาเอาไปพูดต่อในที่ต่างๆ”

#ทำทางสร้างสัมพันธ์

เราพาทุกคนย้อนกลับไปถึงวันแรก ๆ ที่เข้าร่วมกลุ่ม ซึ่งพวกเขายังจำได้ดีและเล่าให้ฟังถึงกระบวนการสอนงาน ‘สมาชิกใหม่’

“พี่ชมพู่สอนตุ๊กตาเรื่องความปลอดภัยของการใช้ยา กระบวนการทำแท้งเกิดขึ้นอย่างไร การใช้เครื่องมือ  การสังเกตอาการแทรกซ้อน การนับประจำเดือน การนับอายุครรภ์และแหล่งข้อมูลในการเข้าถึงสถานที่ให้บริการ ตอนนั้นสมั้ยตุ๊กตามาเอกสารการสอนยังเป็น A4 เป็นปึกอยู่เลย” 

เมื่อเจาะลึกลงไปถึงกระบวนการสอนเพื่อให้คำปรึกษา พบว่า สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ จุดมุ่งหมายของการให้คำปรึกษา อย่างการฟัง และช่วยผู้รับคำปรึกษาตัดสินใจ ส่วนต่อมา คือ การส่งต่อบริการ การแนะนำบริการ เช่น ประชาชนจะหาสถานบริการทำแท้งได้อย่างไร แพทย์ส่งต่อเคสอย่างไร และส่วนสุดท้าย คือ เรื่องทางเทคนิค เทคโนโลยี การใช้ Google form และ Google sheet ในการติดตามเคสเพื่อนับจำนวนผู้ใช้บริการ  

“ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เวลาเรารับสมัครคน แทนที่จะประกาศรับสมัคร เรียกมาสัมภาษณ์ เรากลับรับสมัครผ่านการทำ เทรนนิ่งเพื่อจะให้มีคนได้มาฟังเรื่องนี้มากขึ้น เช่น จัดงานอบรมผู้ให้คำปรึกษา 20 คน เป็นการสร้างโอกาสให้เราได้เจอคน คนที่เขาอาจจะไม่ได้เข้ามาทำงาน แต่เขาจะได้มารับรู้ข้อมูลตรงนี้ และเราพยายามจะรักษาความสัมพันธ์กับเขาต่อไป เราว่ามันเป็นโอกาสที่จะได้พูดเรื่องนี้กับคนที่เขาสนใจจริง ๆ”

ระหว่างการพูดคุยเรื่องนี้ ตุ๊กตาเล่าให้เราฟังถึงความสัมพันธ์ในกลุ่มทำทาง ด้วยการ ‘ตก’ คนมาจากที่ต่าง ๆ 

“กลุ่มทำทางไปตกคนมาเรื่อย ๆ  ตกตุ๊กตามาจากงานฉายหนังเรื่อง Vessel ที่ Let’s Say Café ไปตกพี่อ้อยกับพี่มุ้ยมาจากเครือข่าย ตกเนี้ยบมาจากม็อบ ตกปั๊บมาจากงาน เวลาที่กลุ่มทำทางจัดอีเวนต์ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ บ่อยครั้งเลยที่ตกคนมาได้ เวลาเราพูดเรื่องงานว่าเราทำเวิร์กชอปทำม็อบแล้วดูเหมือนเล็ก แต่จริง ๆ มันไม่เล็กนะ เพราะว่ากลุ่มทำทางได้เพื่อนร่วมทางเพิ่ม 1 คนเสมอ”

ตุ๊กตาบอกกับเราว่า แม้กระทั่งบางครั้งที่ไม่ได้สมาชิกเพิ่ม หรือไม่ได้คนที่เข้ามาร่วมกลุ่ม แต่ถ้าการจัดงานเหล่านั้นทำให้ผู้เข้าร่วมงานกลับไปคุยประเด็นเหล่านี้กับคุณแม่ ก็เพียงพอแล้วให้กลุ่มทำทางเดินหน้าทำงานต่อไป

หลังจากตกคนมาร่วมกลุ่มได้แล้ว การทำงานร่วมกันบนเส้นทางของกลุ่มทำทางก็พาสมาชิกผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย ตุ๊กตาเล่าหนึ่งเหตุการณ์ที่ยังจำได้ดี

“ในช่วงการแก้กฎหมาย ม.301 กรรมธิการได้ขอความคิดเห็นจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ถึงจำนวนสัปดาห์ที่เหมาะสม วันนั้นเราไปยื่นหนังสือให้เขา เขาก็รับเป็นพิธี เราเลยรู้สึกจืดมาก วันนั้นเราชวนเครือข่ายชวนนักข่าว ปรากฏว่าไม่มีใครมาเลย” 

ณ ขณะนั้นราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ แพทยสภา และกรมอนามัยคือ 3 หน่วยงานที่สำคัญซึ่งเป็นตัวแปรของการแก้ไขกฎหมายทำแท้งในประเทศไทย กลุ่มทำทางเห็นถึงช่องว่างของการกำหนดกฎหมายเนื่องจากตรงนั้นยังไม่มีเสียงของคนทำแท้งในการเรียกร้องใด ๆ จึงขอเข้าพบและปรึกษาในประเด็นดังกล่าว

“เหตุการณ์นั้นทำให้ตุ๊กตารักปั๊บมากเลยนะ ชวนเพื่อนทั้งวงการไม่มีใครมา มีปั๊บลากลำโพงมาคนเดียว มาสายด้วยนะ แต่มันก็มา”

#เส้น (ทำ) ทางหลังจากนี้

“ตุ๊กตาว่ากลุ่มทำทางมันโตอย่าง organic นะ เราก็เก็บเกี่ยวกันไปเรื่อย ๆ จากที่คุยกันวันนี้ ตุ๊กตาเพิ่งมาทบทวนว่าเราโตไปตามโอกาส โอกาสที่พี่ชมพู่ได้ไปเครือข่าย choices โอกาสที่พี่ชมพู่หรือพี่นุ่มได้มาทำนู่นทำนี่ โอกาสที่กฎหมายเปลี่ยน โอกาสที่หมอถูกจับ ตุ๊กตาว่าไม่ได้มีแนวทางที่เราวางแผนชัดว่าเราจะต้องโตแบบไหน แต่เดี๋ยวมันโตแน่แหละ โอกาสมันมาเรื่อยๆ เพราะว่าโอกาสมันมาพร้อมวิกฤต แล้ววิกฤตมันมาตลอด”

ด้านเนี้ยบบอกกับเราว่าเป็นห่วงเรื่องเงินเป็นหลัก

“เนี้ยบอยากให้กลุ่มทำทางอยู่ได้แบบไม่ต้องกังวลว่าเดือนหน้า ปีหน้าเงินจะหมด มันมีความหวังเรื่องการเปิดคลินิกอยู่ เนี้ยบคิดว่ามันจะทำให้เราสามารถเป็นตัวแทน เป็นต้นแบบ ในการทำสิ่งที่เราเคยอยากเห็นมาตลอด”

นอกจากนั้นเนี้ยบยังอยากเห็นประเด็นทำแท้งถูกพูดได้อย่างเป็นเรื่องปกติ อยากให้วันหนึ่งสังคมเติบโตไปจนถึงจุดที่ใครไปทำแท้งก็บอกคนอื่นได้

ด้านอ้อยอยากเห็นกลุ่มทำทางเป็นองค์กรที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง

“มันจะเป็นความมั่นคงของคนทำงาน ถ้าได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เป็นมูลนิธิตามที่หวัง เราเห็นเส้นทางการเดินทางมาตลอด คนทำแท้งเยอะขึ้น และคนเข้าใจประเด็นนี้มากขึ้น เขากล้าเดินออกมาหา แต่บางครั้งเขาหาไม่เจอ ถ้าเกิดเป็นมูลนิธิหรือเป็นอะไรที่ขยายตัวขึ้น เราก็สามารถกระจายให้คนรู้ว่ามันมีนะ มีองค์กรแบบนี้คอยช่วยเหลือเขา”

ปิดท้ายด้วยจ๊อดที่อยากให้ทำทางเป็นพื้นที่สร้างพลังให้คนทำแท้งได้ลุกขึ้นมายืนต่อไป
“เรารู้สึกว่ากลุ่มทำทางเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้ที่เคยทำแท้ง อนาคตหลังจากนี้ จึงอยากให้กลุ่มทำทางเป็นพื้นที่ในการสร้างพลังสำหรับผู้ที่เคยทำแท้งได้ลุกขึ้นมาบอกเล่าประสบการณ์ จุดแข็งหนึ่งของทำทางคือทุกคนมีใจ ทุกคนหาโอกาสจากต้นทุนที่ตัวเองมีมาช่วยเหลืองานตรงนี้ งานมันเลยขยายแล้วก็มีพลัง” 

#ทางเดิน ท่วงที และสี่ชั้นของนิทรรศการ

เราให้กลุ่มทำทางลองเล่าถึงภาพรวมสถานการณ์ทำแท้งในปัจจุบันให้ฟัง

“สถานการณ์ก่อนแก้กฎหมายกับหลังแก้กฎหมายไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ มันเกิดความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ๆ เขาควรกำหนดงบประมาณให้ชัดเจน กำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน กำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน เช่น ทำไมโรงพยาบาลทั่วประเทศมันคนละมาตรฐาน แล้วต้องมาหาให้ถูกว่าคุณเหมาะกับที่ไหน อายุครรภ์เท่าไหร่ต้องไปที่ไหน มันไม่ควรเป็นแบบนี้ ทุกที่ควรให้บริการเหมือนกัน และมีทุกจังหวัด การแก้กฎหมายจึงยังไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมดตามที่คาดหวัง” นุ่มเล่า

ธีมของ Bangkok Abortion ปีนี้จึงเป็นเรื่องของการทำแท้งในแสงสว่าง ด้วยความตั้งใจว่าหลังการแก้กฎหมายและกระแสที่ดีขึ้นของการทำแท้งในไทย จะต้องเกิดความเติบโตไปได้อีก การทำแท้งควรเป็นบริการสุขภาพที่จำเป็น ไม่ต้องหลบซ่อนอย่างที่แล้วมา

“เราเต็มที่กับนิทรรศการมาก เราพยายามรวบรวมทุกอย่างที่เรามีมากองไว้ตรงนั้น ทุกอย่างที่เราสะสมมาตลอด 13 ปี ช่วงเย็นมีทอล์คโชว์จนถึง 4 ทุ่ม พร้อมด้วยแขกรับเชิญหลายๆ คน อย่างพี่แขก คําผกา คุณช่อ เมย์ The pillow talk มันแกว นมคุณธรรม คนเหล่านี้จะมาพูดให้ฟังแบบสนุก ๆ เพราะเรามีแนวคิดว่างานนี้เราจะต้องสนุก”

เตรียมฉายไฟให้สว่างและพบกับกลุ่มทำทางที่งาน Bangkok abortion 2023 วันที่ 30 กันยายน 2566 ที่ KINJAI CONTEMPORARY กับนิทรรศการ 4 ชั้นที่มีทั้ง mock up clinic ประวัติ 13 ปีกลุ่มทำทาง ประวัติศาสตร์การทำแท้งในประเทศไทย และเสียงของคนที่เคยทำแท้ง เพื่อร่วมปูทางให้การทำแท้งได้อยู่ในแสงสว่างจริง ๆ เสียที

ร่วมกิจกรรมลุ้นรับบัตรเข้างาน 10 ใบสุดท้ายได้ที่: https://bit.ly/3ru11qO

สำหรับผู้ที่อยากสนับสนุนการทำงานของกลุ่มทำทาง สามารถไปติดตามและให้กำลังใจนักสู้เพื่อสิทธิการทำแท้งกลุ่มนี้ได้ที่ คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง

และบริจาคสนับสนุนการทำงานและเป็นทุนให้กลุ่มทำทางก่อตั้งเป็นมูลนิธิผ่านทางธนาคารกสิกรไทย

เลขที่บัญชี 0651537622

ชื่อบัญชี นิศารัตน์ จงวิศาล

#BangkokAbortion2023 #กลุ่มทำทาง

#คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง #kinjaicontemporary

#ทำแท้ง #ทำแท้งปลอดภัย #ยกเลิกม301

Content by Panita Pichitharuthai

Graphic by 7pxxch

- Advertisement -
Ms.Chapman
Ms.Chapman
a senior baby girl